เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่ห้องประชุมเทศบาลระหาน ต.ระหาน อ.บึงสามัคคี จ.กำแพงเพชร นายยุทธนา เฮี๊ยหลง ประธานคณะทำงานผลักดันการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ลุ่มน้ำปิงตอนล่าง-เจ้าพระยาตอนบน พร้อมกับกลุ่มเกษตรกรเครือข่ายตัวแทนจังหวัดตาก กำแพงเพชร พิจิตร และ นครสวรรค์ กว่า 3,000 คน เดินทางมารวมตัวติดตามและเรียกร้อง โครงการผันน้ำยวม ที่จะเป็นการเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนภูมิพล จ.ตาก โดยมีนายอภิชาติ ชุมนุมมณี ผอ.สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่กรมชลประทาน นายบุญธรรม ปานเปี่ยมโภช รอง ผอ.สำนักชลประทานที่ 4 และนายเอกชัย กำธานี ผอ.โครงการชลประทานกำแพงเพชร พร้อมคณะเข้าร่วมรับฟัง ภายในอาคารหอประชุมชนาดใหญ่และบริเวณเต็นท์ด้านหน้าหอประชุมกว่า 10 หลัง มีการติดป้ายผ้าเขียนข้อความสนับสนุนและเรียกร้องให้เห็นถึงปัญหาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรโดยรอบ

นายยุทธนา กล่าวถึงความเป็นมาในการรวมตัวของพี่น้องเกษตรกรครั้งนี้ว่า เนื่องจากรัฐบาลโดยกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีนโยบายให้มีการดำเนินการศึกษาโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล (โครงการผันน้ำยวม) เป็นโครงการสร้างอุโมงค์ผันน้ำขนาดใหญ่ระยะทาง 61 กิโลเมตร เพื่อผันน้ำเข้าสู่เขื่อนภูพล ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่มีมูลค่าการดำเนินการกว่า 70,000 ล้านบาท ต้นทุนในเขื่อนในการผลิตกระแสไฟฟ้า การป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม การใช้เป็นน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปา การใช้ผลักดันน้ำเค็มและที่สำคัญคือการเพิ่มน้ำในพื้นที่การเกษตรลุ่มน้ำปิงตอนล่างและลุ่มเจ้าพระยา ให้แก่เกษตรกรนับแสนราย จากพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนล่างตั้งแต่จังหวัดตาก กำแพงเพชร พิจิตรและนครสวรรค์ล้วนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวพืชสวนและพืชไร่ที่ต้องอาศัยน้ำต้นทุนจากเขื่อนภูมิพลเป็นหลัก

แต่ปัจจุบันเกษตรกรต้องเผชิญปัญหาการขาดแคลนน้ำการทำการเกษตรเนื่องจากน้ำต้นทุนในชื่อนภูมิพลมีไม่เพียงพอ แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทางเกษตรกรผู้ใช้น้ำต้นทุนจากเขื่อนภูมิพลในภาคการเกษตรกลับไม่ได้รับทราบข้อมูลและสถานะความคืบหน้าของโครงการฯเลย อีกทั้งยังไม่เคยมีการรับฟังความคิดเห็นของเกษตรกรลุ่มน้ำปิงตอนล่างอย่างเป็นทางการ มีเพียงการรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบเหนือเขื่อนเท่านั้น ทั้งที่พื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนล่าง-เจ้าพระยาตอนบน เกษตรกรหลายแสนรายและมีพื้นที่การเกษตรกรรมหลายล้านไร่ รัฐบาลโดยกรมชลประทานควรเห็นว่าประชาชนส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนล่าง-เจ้าพระยาตอนบนนั้น ได้รับผลกระทบจากโครงการนี้เช่นกัน หากโครงดำเนินการ เกษตรกรก็จะต้องเผชิญปัญหาน้ำไม่พอสำหรับทำนาและเกษตรกรรมต่อไป

ดร.พันธวัช ภูผาพันธกานต์ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ศึกษาเพื่อการพัฒนา หนึ่งในคณะทำงานเครือข่ายฯ กล่าวว่า วันนี้เป็นการเชิญหน่วยงานผู้ที่เกี่ยวข้องมารับฟังสภาพปัญหาจากปากของพี่น้องเกษตรกรโดยตรง จากการศึกษาข้อมูลทางวิชาการเห็นว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในการทำนาของพี่น้องเกษตรกรที่น่าจะเป็นพื้นที่แปลงใหญ่สุดในระดับประเทศที่ทำนาปลูกข้าวมาเป็นเวลานาน ส่วนกรณีมีการคัดค้านของกลุ่มไม่เห็นด้วยก็คงต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของการสืบหาข้อเท็จจริงต่อไป

หลังจากนั้นที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนเกษตรกรในแต่ละจังหวัดลุกขึ้นอภิปรายโดยมีเนื้อหาสาระพอสรุปได้ว่า ที่ผ่านมากลุ่มพี่น้องเกษตรกรในเขตลุ่มแม่น้ำปิงตอนล่างและเจ้าพระยาตอนบนในหลายจังหวัดขาดแคลนน้ำในการเกษตรจนได้รับความเดือดร้อน เมื่อจะหันไปประกอบอาชีพอื่นก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากสภาพทางกายภาพของพื้นที่ดั้งเดิมได้ทำไร่ ทำสวน ทำนามาแต่บรรพบุรุษ หลายปีหลังที่ผ่านมาเกษตรกรมีภาวะหนี้สินเพิ่มขึ้น สาเหตุมาจากขาดน้ำต้นทุนการเพาะปลูก เมื่อเจอภัยแล้งซ้ำซาก เกิดขาดแคลนน้ำเพิ่มขึ้น บางรายเกิดอาการเครียดเส้นเลือดในสมองแตกเสียชีวิต บางรายผูกคอตาย หลายรายกินยาตายเพื่อหนีปัญหาหนี้สิน คลองชลประทานหลายสายกลายเป็นอัมพาต ไม่มีน้ำ

ดังนั้นโครงการผันน้ำต้นทุนเข้าเขื่อนภูมิพล จะทำให้เกิดการบริหารจัดการน้ำสู่เกษตรกรใต้เขื่อนจะเป็นหนทางรอดที่มั่นคงและยั่งยืน จึงอยากเรียกร้องและติดตามให้กรมชลประทานและรัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญติดตามโครงการดังกล่าว

นายอภิชาติ กล่าวว่า การเดินทางมาวันนี้เพื่อรับฟังข้อมูลสภาพปัญหาของกลุ่มผู้ใช้น้ำลุ่มน้ำปิงตอนล่าง และเจ้าพระยาตอนบนซึ่งยอมรับว่าโครงการดังกล่าวได้มีการศึกษาข้อมูลมาเป็นเวลานานแต่วันนี้ไม่ติดปัญหา ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคัดค้านอยู่ในชั้นศาลปกครองซึ่งคงต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ แม้ว่าโครงการดังกล่าวจะได้ผ่านคณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้วก็ตาม แต่ก็ต้องรับฟังเสียงของทุกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน และคงต้องพยายามทำความเข้าใจหรือเปิดโอกาสให้มีเวทีพูดคุยซึ่งกันและกัน

หลังจากนั้นนายยุทธนา พร้อมคณะกรรมการ ได้รวบรวมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเกษตรกรจำนวนกว่า 15,180 ราย ยื่นถึงอธิบดีกรมชลประทานโดยมีนายอภิชาติ ชุมนุมมณี ผู้แทนรับมอบเพื่อเสนอเป็นนโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรลุ่มน้ำปิงตอนล่าง-เจ้าพระยาตอนบนในการผลักดันการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำต่อไป