เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา หลังจากทาง นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ตั้งโต๊ะแถลงสื่อมวลชนถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ซึ่งปัจจุบันแพร่ไป 16 จังหวัดทั่วประเทศแล้ว โดยเมื่อตรวจสอบย้อนหลังพบว่า เมื่อเดือน ธ.ค. 2553 มีบริษัทเอกชนขออนุญาตนำเข้ามาในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ระบุเพื่อวิจัยปรับปรุงพันธุ์ โดยมีเงื่อนไข 2 ข้อ 1.ต้องเก็บตัวอย่าง ครีบดอง ส่งให้กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำจืดสำนักและวิจัยกรมประมงน้ำจืด 2.เมื่อสิ้นสุดการทดลองให้รายงานผลการทดลอง หากการทดลองไม่เป็นผลให้ทำลายทั้งหมดโดยแจ้งกรมประมงเข้าตรวจสอบ

ยืนยันทำลายหมดแล้ว ‘ซีพีเอฟ’ ย้ำจริงใจพร้อมร่วมมือแก้ปัญหา ‘ปลาหมอคางดำ’

นอกจากนี้เมื่อตรวจสอบข้อมูลดูย้อนหลัง จาก “สมุดบันทึก” ลงทะเบียนการลงรับข้อมูลที่นำสัตว์น้ำเข้า ตามระเบียนราชการ ไม่พบข้อมูลการนำส่ง “ขวดปลา 50 ตัว” ในสมุดคุมที่กรมประมงคุมอยู่ รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่หาขวดดังกล่าวก็ไม่พบ เมื่อเกิดการระบาดปี 2560 ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ “จุดฝังกลบทำลาย” ของบริษัทเอกชน พบว่าพื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นสิ่งก่อสร้างทับไปแล้ว ถ้ามีหลักฐานหรือเอกสารว่าได้ส่งมอบขวดโหลที่กล่าวอ้างให้กับเจ้าหน้าที่คนไหน วันเวลาใด ก็ให้นำมาแสดงได้เลย “ยืนยันบริษัทฯที่นำเข้าไม่เคยแจ้งมาทางกรมประมง ตอนทำลายฝังกลบก็ไม่แจ้ง”

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ทีมข่าวเฉพาะกิจเดลินิวส์ ได้ตรวจข้อมูล รายงานผลการตรวจสอบ การละเมิดสิทธิมนุษยชน ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 61 ซึ่งเคยมีกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จ.สมุทรสงคราม และเพชรบุรี ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เป็น “ผู้ร้อง” ไว้ตั้งแต่ 13 ก.ย. 60 ส่วนผู้ถูกร้องคือ “กรมประมง” เนื่องจากได้อนุญาตให้ “เอกชน” นำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากปลาหมอคางดำได้กินสัตว์น้ำขนาดเล็กจนส่งผลกระทบต่อรายได้ประกอบอาชีพ

ทาง กสม.จึงได้ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงใน จ.สมุทรสงคราม จากหน่วยงานเกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 60 มีการชี้แจงว่าปี 2549 ทางบริษัทเอกชน ขออนุญาตนำเข้าปลาหมอสีคางดำ ตามขั้นตอนกฎหมาย ระบุเพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิล โดยคณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง ได้ประชุม 21 พ.ย. 2549 พิจารณาแล้วมีมติให้นำเข้าปลาหมอสีคางดำ โดยมีเงื่อนไขจะต้องเก็บ “ครีบ” ตัวอย่างมาส่ง และเมื่อวิจัยเสร็จจะต้องแจ้งผล โดยจะต้องระมัดระวังไม่ให้มีการแพร่ระบาด หากวิจัยไม่สำเร็จจะต้องรายงานและ “เก็บซากปลา” มาส่งให้ผู้ถูกร้องทราบ แต่ประเทศต้นทางต้องใช้เวลารวบรวมพันธุ์ปลา 3 ปี จากนั้นปี 2553 จึงขออนุญาตอีกครั้ง คณะกรรมการฯได้อนุญาต ภายใต้เงื่อนไขเดิม

ต่อมาได้รับแจ้ง การนำเข้าปลาหมอสีคางดำ จำนวน 2,000 ตัว เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2533 โดยมีศูนย์ทดลองอยู่ในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม แต่เนื่องด้วยปลาขนาดเล็กมากอ่อนแอใช้เวลาเดินทางขนส่งนานถึง 32 ชั่วโมงทยอยตาย จึงทำลายทิ้งด้วยการฝังกลบ เหลือเพียง 600 ตัว นำมาเลี้ยงในระบบปิดที่เตรียมไว้ แต่อาการก็ไม่ดี สัปดาห์ที่ 1 รอดชีวิตเพียง 200 ตัว แล้วค่อยๆ ทยอยตายหมดภายใน 3 สัปดาห์ ผู้วิจัยจึงได้ส่ง “ตัวอย่างปลา 50 ตัว” ด้วยวิธีการดองไปให้ผู้ถูกร้อง จากนั้นทำลายปลาที่เหลือด้วยสารคลอรีนเข้มข้นและฝังกลบซากปลาด้วยปูนขาว แล้วแจ้งให้ผู้ถูกร้องทราบด้วยวาจา โดยไม่ได้ทำรายงานอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตามยืนยันไม่ใช่สาเหตุการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำแต่อย่างใด

ต่อมาทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ได้พิจารณาคำร้องข้อเท็จจริงแล้ว พบว่าการที่ไม่ได้รายงานผลการทดลองและการตายของปลาหมอสีคางดำเป็นลายลักษณ์อักษร “จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการอนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่น” แม้ชั้นนี้จะยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า ผู้ถูกร้องกระทำหรือละเลยที่เป็นผลโดยตรงจากการแพร่ระบาดอันจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบในกรณีพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม ปรากฏว่า ผู้ถูกร้องไม่สามารถควบคุมดูแลและตรวจสอบติดตามให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอย่างครบถ้วน อีกทั้งเกษตรกรยังต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน “จึงเห็นควรเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560”


คลิกอ่านรายละเอียด (ฉบับเต็ม)