หนึ่งในนั้นมี “พรรคเพื่อไทย” ที่ยังต้องเดินหน้ารักษาบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะแกนนำรัฐบาลของ “เศรษฐา ทวีสิน” ทั้งการแสดงความจริงจังผลักดันนโยบายเรือธง “โครงการเติมเงินให้ประชาชน 10,000 บาท ผ่านระบบดิจิทัล วอลเล็ต” ที่นายกฯลั่นปักหมุดวันที่ 1 ส.ค.2567 เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิ์นี้ คงหวังให้ชาวบ้านอุ่นใจ และสยบเสียงปรามาสจากฝ่ายตรงข้ามที่ว่ารัฐบาลอาจหาเหตุเปลี่ยนใจไม่ทำต่อเพื่อป้องกันความสุ่มเสี่ยงที่จะตามมา

ขณะเดียวกัน พรรคเพื่อไทยดำเนินฉากสานสัมพันธ์ในพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งเพื่อสร้างความมั่นใจให้ตัวเองในบทบาทแกนนำ และกลบภาพรอยร้าวในขั้วตัวเอง ด้วยการจัดดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาลซึ่งมีขึ้นรวมแล้วเป็น 3 ครั้ง ครั้งแรกริเริ่มโดยพรรคเพื่อไทยเมื่อเดือนพ.ย.2566 ครั้งต่อมา พรรคภูมิใจไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนม.ค.2567 และครั้งล่าสุด พรรคพลังประชารัฐจัดขึ้นหมาดๆ เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา

น่าสังเกตไม่น้อยในงานนี้ เพราะหัวหน้าพรรคที่เป็นเจ้าภาพ นั่นคือ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ไม่ปรากฏกายร่วมวงสังสรรค์ แถมมีช็อตที่ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ พูดแซว“อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ว่าดูแลพรรคเล็กเป็นโขยง กลายเป็นตัวสะกิดต่อม“เอ๊ะ”ของคนที่ได้ยินให้อยากรู้ความจริง

ส่วนผู้นำรัฐบาลเอ่ยในงานเช่นกันย้ำความมั่นใจว่าฝ่ายรัฐบาลมี 314 เสียงเป็นอย่างน้อย แน่นแฟ้น ไม่แตกแถว

แม้ภาพที่ออกมาให้เห็น เป็นหน้าฉากหวานชื่นของนายกฯ และแกนนำของพรรคต่างๆ มาร่วมสังสรรค์เฮฮา แต่คงเป็นแค่การรักษาภาพเพื่อเกาะเกี่ยวประโยชน์ร่วมกันเอาไว้ โดยเรื่องใดที่ทำให้กินแหนงแคลงใจกัน หรือใครที่พกมีดรอเสียบแทงใคร ก็พับเก็บไว้ก่อน หลังจบดินเนอร์แล้วแยกย้ายบ้านใครบ้านมัน เรื่องที่กระทบกระทั่งกันก็จะกลับมา

ด้านอีกตัวละครสำคัญ อย่าง “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี เล่นใหญ่แทบจะทุกย่างก้าวนับตั้งแต่กลับเข้าสู่ประเทศไทย และยิ่งเวลานี้ที่จะครบกำหนดพ้นโทษในวันที่ 22 ส.ค.นี้ ยิ่งน่าสนใจติดตามว่าจะสวมบทบาทใดต่อไป จะถึงขั้นนั่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีตามที่มีกระแสข่าว หรือจะเดินเกมรุกคืบทางการเมืองอย่างไร เพื่อให้“เพื่อไทย”ฟื้นความแข็งแกร่ง

แต่ที่แน่ๆ ความเคลื่อนไหวของผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรคเพื่อไทยคงต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง เพราะหากเฉิดฉายมากเกินไป จะกดทับบทบาทของ “แพทองธาร ชินวัตร” บุตรสาว ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่สำคัญจะทับซ้อนภาพความเป็นผู้นำกับ“นายกฯเศรษฐา” ย่อมกระทบกับภาพลักษณ์ของรัฐบาลและ“เพื่อไทย”ในสายตาของประชาชน

นอกจากนี้ ละครการเมืองตอนใหม่ที่ใกล้จะฉาย คือการเตรียมกลับสู่มาตภูมิของอดีตนายกฯหญิง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่หลบลี้หนีคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว

น่าติดตามว่าจะเขียนบทวางกลเกมกันอย่างไร หรือจะสร้างอภินิหารใดให้ได้อึ้งกิมกี่กับครอบครัวนี้อีกหน.