นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงข้อกังวลของประชาชนและภาคเอกชนเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าไฟฟ้างวดเดือนก.ย. –ธ.ค. 67ว่า กระทรวงพลังงานกำลังเร่งหาแนวทาง ลดภาระค่าครองชีพประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก โดยจะดำเนินการบริหารจัดการและประสานทุกภาคส่วน จะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) โดยให้ไปหารือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบมจ.ปตท. ซึ่งนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาครองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ได้ให้ความสำคัญ และสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันในการบริหารต้นทุนค่าไฟ เพื่อบรรเทาผลกระทบประชาชน

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าค่าไฟของไทยแพงที่สุดในอาเซียนนั้น ไม่เป็นความจริง ค่าไฟของไทยอยู่ในระดับปานกลาง ที่มีข่าวว่าเวียดนามค่าไฟถูกกว่าไทยมากนั้น เนื่องจากเวียดนามใช้ไฟฟ้าจากพลังงานน้ำค่อนข้างมาก จึงทำให้ต้นทุนถูกกว่า แต่เวียดนามก็ไม่มีความเสถียรด้านไฟฟ้า เกิดไฟฟ้าดับบ่อย อินโดนีเซียก็ใช้ถ่านหินก็ทำให้ต้นทุนถูกกว่า

ทั้งนี้กระทรวงพลังงานต้องพิจารณาสร้างความสมดุลทั้งด้านความมั่นคงไปพร้อมกับราคาที่เหมาะสม เพราะนอกจากไฟฟ้าจะนำมาใช้ในชีวิตประจำวันของประชาชนแล้ว ไฟฟ้ายังเป็นปัจจัยหลักที่หนุนเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้า และการลงทุนของประเทศ ซึ่งในกระบวนการบริหารจัดการ จึงมีเป้าหมายในการรักษาสมดุลทั้งการดูแลค่าครองชีพ การดูแลคุณภาพ ความมั่นคง ความมีเสถียรภาพ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ในช่วงที่ราคาพลังงานทั่วโลกผันผวนในระดับสูง

“กระทรวงพลังงานเข้าใจความรู้สึกของประชาชนและภาคเอกชนที่กังวลถึงค่าไฟฟ้าในงวดเดือนก.ย.-ธ.ย. 67 ที่ทาง กกพ.ได้ประกาศออกไป แต่เนื่องจากราคาพลังงานทั่วโลกผันผวนในระดับสูง อีกทั้งกระทรวงพลังงานจะต้องรักษาสมดุลทั้งด้านเสถียรภาพด้านพลังงาน ความน่าเชื่อถือทางการเงินของ กฟผ. รวมทั้งก็คำนึงถึงภาระค่าครองชีพของประชาชน จะพยายามอย่างเต็มที่ในการรักษาสมดุล โดยหาแนวทางพิจารณาค่าไฟฟ้าที่จะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุด ส่วนในอนาคตก็จะพิจารณาปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ให้มีความเหมาะสม รับฟังความคิดเห็นรอบด้าน เพื่อให้ราคาพลังงานมีความเหมาะสมและยั่งยืนต่อไป”

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ค่าไฟเป็นเรื่องของต้นทุนการผลิตในทุกๆอุตสาหกรรม ที่จะได้รับผลกระทบก็คือกลุ่มอุตสาหกรรมหนัก สิ่งที่น่าห่วง คือ คู่แข่งของไทย เช่น เวียดนาม ค่าไฟเฉลี่ย 2.70 ต่อหน่วย อินโดนีเซีย ค่าไฟเฉลี่ย 3.33 บาทต่อหน่วย ของไทยงวดปัจจุบันอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยก็ยังสูงกว่าคู่แข่งอยู่ดี เรื่องนี้ทางส.อ.ท.และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน  หรือกกร. เห็นตรงกันแล้วว่า ราคาเดิมก็มากพออยู่แล้ว ถ้ายิ่งงวดใหม่ปรับแม้ต่ำสุด 4.65 บาทต่อหน่วย ยิ่งสูงเข้าไปอีก สายป่านที่รับได้ อาจไม่เหมือนกันทุกรายสุดท้ายผู้ประกอบการต้องหันไปมองหาสินค้านำเข้าที่ถูกกว่ากระทบกับผู้ประกอบการในประเทศอยู่ดี

“เราอยากขอให้ภาครัฐ ช่วยลดค่าไฟ เพราะแค่ราคาค่าไฟ ปัจจุบัน 4.18 บาทต่อหน่วย ก็สู้เขาไม่ได้แล้ว นอกจากคนไทยสู้ไม่ได้แล้ว ยังทำให้ต่างชาติที่จะมาลงทุนในไทย ต้องพิจารณาหนักที่จะเข้ามาลงทุน ทำให้เราเสียโอกาสไปด้วย ดังนั้น การปรับขึ้นค่าไฟมีผลกระทบแน่นอน”