‘เนยทำจากอากาศ แทนเนยจากวัว’ สตาร์ทอัพแห่งหนึ่งในแคลิฟอร์เนีย เผยว่าได้คิดค้นนวัตกรรมในการผลิตสินค้าที่ช่วยลดความจำเป็นในการใช้สัตว์ ขณะเดียวกันก็ยังคงไว้ซึ่งรสชาติที่ดีเช่นเดิม

‘ซาวอร์’ สตาร์ทอัพ ภายใต้การสนับสนุนจาก ‘บิล เกตส์’ มหาเศรษฐีเจ้าของไมโครซอฟท์ ได้ทดลองผลิตสารทดแทนในการผลิตเนยที่ปราศจากนมวัว เพื่อสร้างทางเลือกสำหรับผลิตภัณฑ์ อย่าง ไอศกรีม ชีส และนม โดยใช้กระบวนการเทอร์โมเคมีที่ช่วยให้สามารถสร้างโมเลกุลไขมัน ห่วงโซ่คาร์บอนไดออกไซด์ ไฮโดรเจน และออกซิเจนได้ ซึ่งขณะนี้บริษัทได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ทางเลือกดังกล่าว ทว่ายังไม่นำเข้าตลาดเพื่อวางจำหน่าย

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการลดการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนม เป็นหนึ่งในกลวิธีสำคัญที่มนุษย์สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ เนื่องจากการผลิตปศุสัตว์นับเป็นแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจกขนาดใหญ่ของโลก ซึ่งผลิตภัณฑ์ของซาวอร์ จะมีปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นต์ที่ต่ำกว่าผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์เป็นอย่างมาก เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ อย่าง ‘เนย’ ของซาวอร์ที่ว่านี้ มีปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นต์ ต่ำกว่า 0.8 กรัมต่อแคลอรี่ ขณะที่เนยจืดแท้ที่มีไขมันจากสัตว์ 80% จะมีปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นต์ อยู่ที่ประมาณ 2.4 กรัมต่อแคลอรี่

“ตอนนี้เราอยู่ในช่วงเตรียมตัวเปิดดำเนินการในเชิงพาณิชย์ และกำลังอยู่ระหว่างการขออนุญาตจากหน่วยงานที่กำกับดูแล เพื่อให้สามารถขายได้ในอนาคต และคาดว่าจะยังไม่สามารถเปิดทำการขายใดๆ ได้จนกว่าจะถึงปี 2025 เป็นอย่างน้อย” ‘แคธลีน อเล็กซานเดอร์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทซาวอร์ กล่าว

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ทางเลือกจากนม ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทว่าต้องยอมรับว่าสินค้าบางชนิดยังมีรสชาติที่ไม่ค่อยดีนัก ซึ่งซาวอร์ย้ำว่า ‘รสชาติของเนยนั้นมีความแม่นยํา และทำออกมาได้เหมือนเนยแท้กว่า’

“จนถึงขณะนี้ เราได้พูดคุยกับกลุ่มตัวอย่างแบบไม่เป็นทางการหลายสิบคนแล้ว ซึ่งในอนาคตเราจะจัดกลุ่มตัวอย่างอย่างเป็นทางการในจำนวนที่มากขึ้น เพื่อผลักดันผลิตภัณฑ์ให้เข้าสู่ตลาดและเติบโตได้มากขึ้น” อเล็กซานเดอร์ กล่าว

คำถามที่น่าสนใจคือ ผู้บริโภคจะยอมเปลี่ยนไปเลือกรับประทานไขมันสังเคราะห์ดังกล่าวหรือไม่ เพราะการที่ทำให้ผู้บริโภคละทิ้งการทานผลิตภัณฑ์นมและเนื้อสัตว์ที่ตนชื่นชอบ และหันมาทานอาหาร ‘แปลกใหม่’ มากขึ้นนั้น อาจเป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควร

เช่นเดียวกันกับ ‘บิล เกตส์’ ที่สนับสนุนนวัตกรรมและแนวคิดดังกล่าว ได้เผยแพร่ข้อความบนบล็อกโพสต์ออนไลน์ของเขา ใจความว่า “แนวคิดในการเปลี่ยนไปใช้ไขมันและน้ำมันที่ผลิตในห้องแล็ปอาจเป็นเรื่องที่ฟังดูแปลกๆ ในตอนแรก แต่ไขมันและน้ำมันเหล่านี้ มีศักยภาพมหาศาลในการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนของเราได้เป็นอย่างมาก ด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและกระบวนการที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว นั่นหมายความว่า เรากำลังก้าวเข้าใกล้การบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศของเราไปอีกขั้น”

ทั้งนี้ กระบวนการผลิตเนยดังกล่าว ไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งยังไม่ต้องใช้พื้นที่เพาะปลูกและใช้น้ำน้อยกว่าหนึ่งในพันส่วน เมื่อเทียบกับการทำเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม และประเด็นสำคัญที่สุดคือการมี ‘รสชาติดี’ เสมือนเนยที่ทำจากสัตว์จริงๆ เนื่องจากมีคุณสมบัติทางเคมีที่ช่วยให้ดึงรสชาติออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ

อนึ่ง ข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า อุตสาหกรรมปศุสัตว์ซึ่งรวมถึงเกษตกรรมหรือฟาร์มโคนมและเนื้อสัตว์ทั้งหมด คิดเป็น 14.5% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทั่วโลก

ขอบคุณข้อมูลจาก: The Guardian