เมื่อวันที่ 16 ก.ค. เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ สัตว์เอเลี่ยนสปีชีส์ กลุ่มเกษตรกรเคยพยายามเรียกร้องให้ภาครัฐ หน่วยงานเกี่ยวข้อง แก้ไขมาพบหลายปีแล้ว แต่ปัจจุบันขยายวงกว้างพบในพื้นที่ 14 จังหวัด รวมถึงล่าสุด มาโผล่ในบึงมักกะสัน ใจกลางกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ มีชาวบ้านไปพบในคลองผดุงกรุงเกษม แถวสะพานมัฆวานฯ ใกล้ทำเนียบรัฐบาล อย่างไรก็ดีประชาชนยังติดตามหาข้อมูลย้อนหลังถึงที่มาของปลาหมอสีคางดำ เนื่องจากทางรัฐบาลเศรษฐาและหน่วยงานรับผิดชอบ ยังไม่มีการแถลงถึงแนวทางมาตรการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

ทีมข่าวเดลินิวส์ ได้ข้อมูลย้อนหลัง รายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 61 หลังจากมีกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จ.สมุทรสงคราม และเพชรบุรี “ผู้ร้อง” ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ สัตว์น้ำพันธุ์ต่างถิ่น (มาร้องเรียนไว้ตั้งแต่ 13 ก.ย. 60) ซึ่งทาง “ผู้ถูกร้อง” คือกรมประมง ได้อนุญาตให้ “เอกชน” นำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากปลาหมอคางดำได้กินสัตว์น้ำขนาดเล็ก จนส่งผลกระทบต่อรายได้ประกอบอาชีพ จึงขอให้ตรวจสอบ

ทั้งนี้ ทางผู้ร้องได้พบปลาหมอสีคางดำ ครั้งแรก ในปี 2555 แต่เริ่มระบาดหนัก 2559 สามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว กระจายไป อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี ผู้ร้องจึงต้องการทราบต้นเหตุของการแพร่ระบาด ส่วนการแก้ปัญหาเสนอให้ร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่นำเข้าปลาหมอสีคางดำ, หน่วยงานรัฐ และเกษตรกร นอกจากนี้ ขอให้ตรวจสอบเพื่อหาผู้รับผิดชอบด้วย เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิของเกษตรกร ได้รับผลกระทบ ทำให้ขาดทุนจากการเลี้ยงกุ้งและสัตว์น้ำชนิดอื่น

ขณะที่ผู้ถูกร้อง ชี้แจงข้อเท็จจริงสรุป ปี 2549 ทางบริษัทเอกชน ขออนุญาตนำเข้าปลาหมอสีคางดำ ตามขั้นตอนกฎหมาย ระบุเพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิล โดยคณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง ได้ประชุม 21 พ.ย. 2549 พิจารณาแล้วมีมติให้นำเข้าปลาหมอสีคางดำ โดยมีเงื่อนไขจะต้องเก็บ “ครีบ” ตัวอย่างมาส่ง และเมื่อวิจัยเสร็จจะต้องแจ้งผล โดยจะต้องระมัดระวังไม่ให้มีการแพร่ระบาด หากวิจัยไม่สำเร็จจะต้องรายงานและเก็บซากปลามาส่งให้ผู้ถูกร้องทราบ (แต่ประเทศต้นทางต้องใช้เวลารวบรวมพันธุ์ปลา 3 ปี) จากนั้นปี 2553 จึงขออนุญาตอีกครั้ง คณะกรรมการฯ ได้อนุญาต ภายใต้เงื่อนไขเดิม
ต่อมาได้รับแจ้งการนำเข้าปลาหมอสีคางดำ จำนวน 2,000 ตัว เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2533 โดยมีศูนย์ทดลอง อยู่ในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม แต่เนื่องด้วยปลาขนาดเล็กมาก อ่อนแอ ใช้เวลาเดินทางขนส่งนานถึง 32 ชั่วโมง ทยอยตาย จึงทำลายทิ้งด้วยการฝังกลบ เหลือเพียง 600 ตัว นำมาเลี้ยงในระบบปิดที่เตรียมไว้ แต่อาการก็ไม่ดี สัปดาห์ที่ 1 รอดชีวิตเพียง 200 ตัว แล้วค่อยๆ ทยอยตายหมดภายใน 3 สัปดาห์ ผู้วิจัยจึงได้ส่งตัวอย่างปลา 50 ตัว ด้วยวิธีการดองไปให้ผู้ถูกร้อง จากนั้นทำลายปลาที่เหลือด้วยสารคลอรีนเข้มข้นและฝังกลบซากปลาด้วยปูนขาว แล้วแจ้งให้ผู้ร้องทราบด้วยวาจา โดยไม่ได้ทำรายงานอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ยืนยันไม่ใช่สาเหตุการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำแต่อย่างใด ส่วนสาเหตุของการระบาดอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากการทำผิดเงื่อนไขอนุญาตนำเข้า หรือการลักลอบนำเข้าโดยผิดกฎหมาย และการแพร่ระบาดผ่านมาระยะเวลาหลายปี จึงไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า แหล่งที่มาหรือสาเหตุของการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำเกิดขึ้นจากสาเหตุใด

ต่อมาทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ได้พิจารณาคำร้องข้อเท็จจริงแล้ว พบว่าการที่ไม่ได้รายงานผลการทดลองและการตายของปลาหมอสีคางดำเป็นลายลักษณ์อักษร จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการอนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่น แม้ชั้นนี้จะยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า ผู้ถูกร้องกระทำหรือละเลย ที่เป็นผลโดยตรงจากการแพร่ระบาดอันจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบในกรณีพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม ปรากฏว่า ผู้ถูกร้องไม่สามารถควบคุมดูแลและตรวจสอบติดตามให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอย่างครบถ้วน อีกทั้งเกษตรกรยังต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ในชั้นนี้จึงเห็นควรเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

คลิกอ่านรายละเอียด (ฉบับเต็ม) รายงานผลการตรวจสอบ