เมื่อวันที่ 16 ก.ค. นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย ในคณะ กมธ.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา อนุกมธ. ได้เรียกบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ มาชี้แจงถึงกรณีการนำเข้าปลาหมอคางดำต่ออนุฯ  อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทไม่ได้มาด้วยตัวเอง แต่ขอชี้แจงเป็นเอกสาร ซึ่งเขาให้ข้อมูลว่าได้มีการขออนุญาตนำเข้าจริง จากคณะกรรมการความหลากหลายทางชีวภาพ เมื่อปี 2549 หลังจากนั้นเมื่อขออนุญาตแล้วก็ไม่ได้นำเข้าเลย แต่มานำเข้าในปี 2553  ซึ่งขออนุญาตนำเข้าจากประเทศกานามาทั้งหมด 2,000 ตัว หลังจากนำเข้าพอมาถึงแล้ว ยังไม่ได้เริ่มต้นโครงการวิจัยปลาก็อ่อนแอและทยอยตายไปทั้งหมด

นายณัฐชา กล่าวต่อว่า เริ่มต้นมาถึงแล็บก็เหลือเพียง 600 ตัว หลังจากนั้นก็ทยอยตายอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ทางแล็บยกเลิกโครงการไปแล้วก็ได้มีการทำลายซากปลาที่เหลือด้วยการฝังกลบ โรยปูนขาว หลังจากนั้นก็ได้เก็บตัวอย่างจำนวน 50 ตัว ใส่ขวดโหล ดองฟอร์มาลินโหลละ 25 ตัวส่งให้กรมประมง ตามกระบวนการขั้นตอนที่กรมประมงระบุไว้ในปี 2554 และขอยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาด เนื่องจากทำตามขั้นตอนของกรมประมงทั้งหมด และยืนยันว่าทำลายซากปลาเสร็จสิ้นแล้ว นี่คือข้อมูลตามเอกสารที่ทางซีพีเอฟส่งมายังอนุฯ

ยืนยันทำลายหมดแล้ว ‘ซีพีเอฟ’ ย้ำจริงใจพร้อมร่วมมือแก้ปัญหา ‘ปลาหมอคางดำ’…

นายณัฐชา กล่าวว่า ดังนั้นหลังจากเราได้รับการชี้แจงเป็นเอกสารมา ในวันที่ 18 ก.ค.นี้  เราจะเชิญ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมประมงมาสอบข้อมูลตามเอกสารที่เอกชนแจ้งเข้ามา เพราะว่าเขาแจ้งว่าได้มีการส่งซากปลา ตัวอย่างปลาที่ตายแล้วจำนวน 50 ตัว ให้กรมประมงตั้งแต่ปี 2554  และกรมประมงก็มีเอกสารงานวิจัยตั้งแต่ปี 65 ว่าปลาที่ระบาดอยู่ทั่วประเทศในเวลานี้คาดว่ามีแหล่งกำเนิดเดียวกัน เพราะว่าสัดส่วนทางพันธุกรรม ดีเอ็นเอต่างๆ ที่ได้ศึกษาไว้ตรงกัน เมื่อเราเจอดีเอ็นเอปลายทางแล้ว สิ่งที่เราต้องการหาต่อคือดีเอ็นเอต้นทางว่าที่มีการระบาดอยู่ทั่วประเทศมันมาจากจำนวน 2,000 ตัวที่นำเข้าหรือไม่ ซึ่งต้องใช้ซากปลาตรงนั้น แต่เหตุใดจึงไม่ได้มีการนำมาเทียบเคียงกับงานวิจัยเมื่อ 65 หลังปี 65 งานวิจัยก็เงียบหายและจบไป

เมื่อถามว่าเชื่อว่าซากปลาหมอคางดำในขวดโหลมีอยู่จริงหรือไม่ นายณัฐชา กล่าวว่า เรื่องซากปลานั้นทางเอกชนยืนยันว่าส่งให้กรมประมงแล้ว ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ก็ได้ลงพื้นที่ไปที่แล็บนี้ และได้ให้ข้อมูลไว้ตั้งแต่ปี 61 บอกว่ามีการส่งตัวอย่างไปให้ทางกรมประมงเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นกรมประมงต้องมี ไม่มีไม่ได้ เพราะว่าเอกสารทั้งการสืบค้นของ อสม.ทั้งแล็บเอกชนยืนยันว่าอยู่ที่คุณ แต่ล่าสุดอธิบดีกรมประมงให้สัมภาษณ์ในสื่อต่างๆ ว่าไม่เคยได้รับ และไม่เคยรู้ว่ามีการส่งตัวอย่างพันธุ์ปลามาที่กรมประมง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่งว่าวิธีการหรือกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ของการนำเข้าปลาจากต่างประเทศเข้ามามันมีวิธีการที่รัดกุมมากน้อยแค่ไหน เพราะว่าสุดท้ายพอมันส่งผลกระทบต่อธรรมชาติแล้วมันสร้างผลกระทบอย่างมากทางเศรษฐกิจ

“แต่ว่าสิ่งที่เราต้องการตามต่อจากกรมประมงก็คือเขาแจ้งว่าทำลายทิ้งหมดแล้ว กรมประมงได้ไปดูและตรวจสอบหรือไม่ เพราะว่าปลาสายพันธุ์นี้อานุภาพทำลายล้างมันสูง หากปล่อยปละละเลย ไม่ตรวจสอบจริงแล้วมันหลุดออกมา มันสร้างผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนจำนวนมาก อีกทั้งวิธีการทำลายของเขาเป็นการฝังกลบทั้งเป็นหรือไม่ หรือเป็นการฝังกลบแบบไหนอย่างไร วิธีการถูกต้องหรือไม่ ทางกรมได้เข้าไปตรวจสอบหรือมีเอกสารการดำเนินการในวันนั้นหรือไม่ เป็นสิ่งที่เราต้องการจะสืบค้นต่อไปในวันที่ 18 ก.ค.นี้” นายณัฐชากล่าว.