เมื่อวันที่ 16 ก.ค. นายปัญญา โตกทอง เครือข่ายประชาคมคนรักแม่กลอง ซึ่งเป็น 1 ในกรรมการภาคประชาชน คณะทํางานแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำระดับชาติ เปิดเผยว่า วันนี้ตนเดินทางไปประชุมคณะทํางานแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำระดับชาติ ที่แต่งตั้งขึ้นโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ ที่ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรฯ เป็นประธาน หลังจากมีการประชุมไปแล้ว 1 ครั้ง เมื่อ 2 เดือนก่อน และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2

สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีกรรมการภาคประชาชนจังหวัดต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจังหวัดละ 2 คน ร่วมประชุมด้วยได้แก่ จ.สมุทรสงคราม, เพชรบุรี, สมุทรสาคร, กรุงเทพฯ, สมุทรปราการ และจันทบุรี ส่วนหัวข้อการประชุมคือแนวทางแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ สำหรับ จ.สมุทรสงคราม มีตน นายคัมภีร์ ทองเปลว กก.ภาคประชาชนฯ และนายศุภโชค ศาลากิจ สว.สมุทรสงคราม เดินทางเข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อร่วมเป็นกระบอกเสียงสะท้อนความเดือดร้อนของชาวสมุทรสงคราม ที่ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำ

นายปัญญา กล่าวต่อว่า ตนจะเสนอแนวทางแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ เนื่องจากที่ผ่านมา มองว่ากรมประมง ทำงานสะเปะสะปะเหมือนลิงแก้แห จึงต้องการให้ใช้วิธีกำจัดอย่างเดียว ไม่ใช่กำจัดบ้าง แปรรูปบ้าง ซึ่งไม่ได้ผล ที่ผ่านมาเช่นประมง จ.สมุทรสงคราม ร่วมกับชาวบ้าน ลงแขกลงคลองจับปลาหมอคางดำมาแล้ว 10 ครั้ง ได้ปลาแค่ 700 กิโลกรัม แต่ชาวบ้านจับครั้งเดียวได้เยอะแยะ สาเหตุเพราะข้าราชการไม่มีเครื่องมือ อีกทั้งไม่มีประสบการณ์ในการจับปลา มีแต่วิชาการ ต้องให้ชาวบ้านที่เขามีอาชีพเข้ามามีส่วนร่วมในการจับ ส่วน “การแปรรูป” นั้น กรมประมงไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว ยกให้หน่วยงานอื่นทำ อีกเรื่องจะเสนอคือให้กระทรวงเกษตรฯ จับมือกับมหาดไทยร่วมด้วย เน้นย้ำว่าต้องร่วมกันกำจัดอย่างเดียวเท่านั้น

สำหรับแนวทางการกำจัดนั้น พื้นที่ระบาดน้อยใน “น้ำเค็ม” ให้ปล่อยปลานักล่าน้ำเค็มลงไปกำจัดก่อน ส่วน “น้ำจืด” ปล่อยปลาชะโด ปลาช่อน ซึ่งเป็นปลานักล่าน้ำจืดลงไป โดยพื้นที่ที่ระบาดมากต้องกำจัดอย่างเดียว ยังไม่ต้องปล่อยปลานักล่าลงไป และไม่จับมาแปรรูป ต้องกำจัดอย่างเดียวแบบจริงจัง นอกจากนี้ ยังให้รับซื้อปลาหมอคางดำ แต่ตอนนี้ก็ยังถกเถียงกันอยู่ว่าจะรับซื้อหรือไม่ เพราะโรงงานปลาป่นบางแห่งมีนายทุนไปรับซื้อจากชาวบ้านกิโลกรัมละ 8 บาท แล้วเอาไปขายให้กับโรงงานกิโลกรัมละ 10 บาท จึงเห็นว่ากรมประมงต้องเป็น “นายหน้า” เพื่อซื้อปลาหมอคางดำจากชาวบ้านเองในราคากิโลกรัมละ 20 บาท แล้วเอาไปขายให้โรงงานกิโลกรัมละ 10 บาท โดยตัดพ่อค้าคนกลางออกไป เช่น ตั้งงบประมาณมา 10 ล้านบาท ยังได้คืน 5 ล้านบาท

“เงินลดปลาก็ลด ทำแบบนี้สัก 2 ปี เมื่อปลาหมอคางดำลดลงแล้ว จึงค่อยปล่อยปลานักล่าลงไปกำจัด เมื่อเบาบางแล้ว พร้อมปล่อยปลาที่เหนี่ยวนำโครโมโซมให้เป็นหมันลงไปด้วย หากยังไม่เบาบางแล้วปล่อยลงไป ก็สู้ปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดอยู่ตอนนี้ไม่ไหว จะไม่เกิดผลแน่นอน เพราะจำนวนปลานักล่าหรือปลาที่เป็นหมันมันน้อยกว่า หากไม่วางแผนงานให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมแล้ว ก็เชื่อว่าไม่มีทางแก้ได้ จะเหมือนลิงแก้แหเช่นเดิมอีก”