จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลรวม 3 ราย คือ 1.นายสมโภชน์ อาหุนัย 2.นายอมร ทรัพย์ทวีกุล กรรมการและผู้บริหารบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) และ 3.นายพรเลิศ เตชะรัตโนภาส ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีร่วมกันกระทำการทุจริตการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ และหรือทุจริตการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ EA ผ่านบริษัทย่อย 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท อีเอ โซล่า นครสวรรค์ จำกัด และบริษัท อีเอ โซล่า ลำปาง จำกัด เมื่อปี 2556-2558 ต่อเนื่องกัน เป็นเหตุให้บุคคลทั้ง 3 ราย ได้รับผลประโยชน์ รวม 3,465.64 ล้านบาท การกระทำของบุคคลดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังได้แจ้งการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ข้างต้นต่อสำนักงาน ปปง. อันเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 16 ก.ค. “ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์” ได้รับการเปิดเผยความคืบหน้าจาก พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่า สำหรับเอกสารที่ทาง ก.ล.ต. ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษผู้บริหารบริษัท EA ทั้ง 3 ราย มายังดีเอสไอนั้น ได้มีการระบุพฤติการณ์ลักษณะความผิดแต่ละบุคคลอย่างไร หรือแต่ละคนทำหน้าที่แตกต่างกันอย่างไร จึงทำให้ ก.ล.ต. แจ้งว่ากระทำทุจริต รวมถึงมีการระบุไทม์ไลน์ชัดเจนหรือไม่ว่าปี พ.ศ. ใดใครทำอะไร ว่า เนื้อหาพฤติการณ์แห่งคดีโดยย่อ ปรากฏตามเอกสารข่าวของ ก.ล.ต. มีความถูกต้องตรงกัน ส่วนกระบวนการระหว่างนี้ หาก รรท.อธิบดีดีเอสไอ ได้พิจารณารายงานและเอกสารของ ก.ล.ต. เสร็จสิ้น จะมีการตั้งเลขสืบสวน หรือ ส่งเรื่องไปยังกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน เพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวนทันทีหรือไม่นั้น ตนขอเรียนว่าขณะนี้เรื่องการพิจารณายังอยู่ในชั้นสำนักงานอธิบดี ความเป็นไปได้มี 2 แนวทาง คือ 1.ส่งกองบริหารคดีพิเศษ ประมวลเรื่องมาตามระเบียบกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่าด้วยการบริหารงานคดีพิเศษ พ.ศ. 2567 และ 2.กรณีเป็นเรื่องเร่งด่วน อาจอาศัยข้อยกเว้นตามระเบียบฯ พิจารณาสั่งการมอบหมายไปยังหน่วยงานให้ดำเนินการสืบสวนได้ทันที จากนั้นหน่วยงานจึงมาขอเลขคดีกับกองบริหารคดีพิเศษภายหลัง

เมื่อถามว่าในกรณีหาก รรท.อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีการพิจารณาเอกสารร้องทุกข์ของ ก.ล.ต. เสร็จสิ้น เล็งเห็นหรือไม่ว่าอันดับแรกจะมีการเชิญบุคคลใดในบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด มหาชน (EA) มาสอบถามข้อมูลเป็นกลุ่มแรก หรือจะต้องเรียกเอกสารเพิ่มเติมจากบริษัท EA หรือไม่ อย่างไร พ.ต.ต.วรณัน แจงว่า กระบวนการกำหนดประเด็นว่าจะต้องเชิญผู้ใดมาสอบถามนั้น จะเริ่มหลังจากที่มีการตั้งคณะพนักงานสืบสวนเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากต้องศึกษาเนื้อหาคำร้องและเอกสารประกอบให้ละเอียดเสียก่อน หากมีความชัดเจนในประการใด หรือมีข้อสงสัยจึงจะขยายไปตรวจสอบข้อเท็จจริงยังเรื่องอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณี 2 บริษัทย่อยของบริษัท EA อย่าง “บริษัท อีเอ โซล่า นครสวรรค์ จำกัด” และ “บริษัท อีเอ โซล่า ลำปาง จำกัด” ซึ่งเป็นไปตามเอกสารร้องทุกข์ของ ก.ล.ต.

ต่อข้อถามว่ากรณีที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ได้ระบุว่าอาจจะมีการส่งหนังสือแจ้งนายกรัฐมนตรี เพื่อขอประสานแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดทุน หรือผู้มีประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าวมาเป็นที่ปรึกษาของดีเอสไอสำหรับการทำคดีนั้น ล่าสุดมีการดำเนินการหรือไม่ อย่างไร หรือจะเชิญตัวแทนจาก ก.ล.ต. มาเป็นที่ปรึกษาในคดีด้วยหรือไม่ โดย พ.ต.ต.วรณัน ระบุว่า เรื่องที่ปรึกษานั้น จะสามารถดำเนินการแต่งตั้งได้ก็ต่อเมื่อมีการรับเป็นคดีพิเศษ โดยกรมฯ อาจใช้อำนาจตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 เพื่อแต่งตั้งที่ปรึกษาคดีพิเศษ สำหรับให้คำปรึกษาในการดำเนินคดี ซึ่งเป็นรูปแบบที่กรมสอบสวนคดีพิเศษใช้ในการดำเนินการสอบสวนคดีสำคัญ อย่างไรก็ตาม ในชั้นสืบสวนก็ยังสามารถแสวงหาความร่วมมือและองค์ความรู้มาประกอบการดำเนินการได้เช่นกัน

ด้านแหล่งข่าวภายในกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ภายหลังจากที่ ก.ล.ต. ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษมายังดีเอสไอนั้น ขณะนี้ขั้นตอนยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาเอกสารและการประมวลเรื่องของ รรท.อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ส่วนแนวทางการทำคดีของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ หากมีการตั้งเลขสืบสวนสอบสวนในคดีดังกล่าว เมื่อพิจารณาจากข่าวสารที่ปรากฏจะมีพฤติการณ์ลักษณะคล้ายคดีหุ้นสตาร์ค (STARK) จึงมีความเป็นไปได้ว่าคดีบริษัท EA จะถูกส่งเรื่องไปให้กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน แต่อย่างไรพนักงานสอบสวนก็จะต้องดูข้อเท็จจริงและพฤติการณ์คำร้องทุกข์ของ ก.ล.ต. ก่อนว่ามีการระบุรูปแบบการกระทำความผิดของบุคคลทั้ง 3 รายอย่างไร ใครมีหน้าที่ทำกิจกรรมใดของบริษัทบ้างเมื่อช่วงเกิดเหตุ (ปี 56-58)

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ระบุว่าพร้อมให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนนั้น ปกติแล้วในการสอบสวนหากรับเป็นคดีพิเศษเมื่อใด จึงจะสามารถออกหมายเรียกพยานต่อบุคคลมาสอบปากคำได้ ส่วนในกรณีหากยังเป็นเพียงเลขสืบสวนจะทำได้เพียงขอความร่วมมือเชิญมาให้ถ้อยคำ ทั้งนี้ แนวทางการสืบสวนสอบสวนหรือการดำเนินคดีดังกล่าว ทราบว่าทางกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน จะต้องมีการประชุมร่วมกับรักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อสรุปว่าจะมีการตั้งชุดคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนอย่างไร และมีประเด็นใดที่ต้องการเป็นพิเศษ หรือต้องดำเนินการเป็นลำดับแรก เป็นต้น คาดว่า 1-2 วันอาจมีการประมวลเรื่องราวและขั้นตอนของกรมฯ ต่อคดีดังกล่าวนี้ได้ชัดเจนขึ้น.