เกาะติดประเด็นข่าวการเมืองวันนี้ คงต้องตามดูความเคลื่อนไหวที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการบริหารประเทศ เพราะมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม. ) ที่ “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน จะมีวาระสำคัญอะไรที่นำมาพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจสังคม ร่วมถึงการแต่งตั้งบุคคลเข้าไปทำหน้าที่ในตำแหน่งต่าง ๆ โดยเฉพาะการเตรียมการของฝ่ายบริหาร เพื่อรับมือกับฝีปากของฝ่ายค้าน เนื่องจากวันที่ 17 ก.ค. รัฐบาลจะนำร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต หลังจากรัฐบาลยกเลิกการนำเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.)มาใช้ในโครงการเรือธง

ด้าน “นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย(พท.)ในฐานะะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ระบุว่า การการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ถือเป็นวาระเร่งด่วน ด้งนั้น หลังจากที่สภารับหลักการแล้ว จะกำหนดให้ใช้เวลาแปรญัตติ 2 วัน และให้ กมธ.วิสามัญเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะรายละเอียดของกฎหมายไม่มีความซับซ้อน มีเพียงการของบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมงบกลาง 1.22 แสนล้านบาท เพื่อจะมีเม็ดเงินให้รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือประชาชน.

เชื่อว่างานนี้ พรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะ “ก้าวไกล(ก.ก.)” คงไม่ปล่อยให้ผ่านไปง่าย ๆ ต้องอาศัยเวทีนี้เปิดแผลฝ่ายบริหารอีกครั้ง เพราะโครงการแจกเงินหมื่น ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต เป็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง รายละเอียดเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แบบไม่จบไม่สิ้น ส่วนจุดแข็งถ้าผลักดันออกมาได้ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม นอกจากจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ในทางการเมืองคงได้คะแนนนิยมไม่น้อย เพราะเวลาหัวหน้ารัฐบาลลงพื้นที่ไปยังจังหวัดต่าง ๆ จะถูกทวงถามถึงความชัดเจนในการแจกเงินหมื่นทุกครั้ง ดังนั้นในทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามคงไม่ต้องการผ่านไปได้ง่าย ๆ เนื่องจากเป้าหมายแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ต้องการเสียงเกินครึ่งในการเลือกตั้งครั้ง เพื่อความชัวร์ในการเป็นแกนนำรัฐบาล

ส่วนประเด็นความขัดแย้งของตระกูล “อยู่บำรุง” กับพรรคพท. ก็ยังเป็นปมร้อนที่ต้องตามต่อ แม้ “วัน อยู่บำรุง” จะยื่นใบลาออกพ้นจากพรรคแล้ว แต่ก็ยังบางประเด็นให้ขบคิด โดยเฉพาะการทิ้งบางปมให้ต้องตามต่อ อยางเช่น ตนก็แค่สส.กรุงเทพมหานคร (กทม. ).สอบตก แต่ที่สอบตกอย่าลืมว่ากทม.มีสส. 33 คน พรรคพท. ถ้าสอบตกคนเดียว จะพิจารณาตนเอง คิดว่าทางพรรคพท.ก็ต้องกลับไปพิจารณาตัวเอง

พร้อมทั้งยังข้อสังเกตกรณี “นายวรชัย เหมะ” ที่ปรึกษารองนายกฯ ที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของนายกฯ ลองเปรียบเทียบกับกรณีของตนว่าจะผิดมารยาทหรือไม่ หรือว่าจะมีคนที่อยู่เบื้องหลังนายวรชัย มากบารมีกว่านายก ฯ จึงทำให้นายวรชัย พูดได้ ทำให้คนตีความกันได้ว่า ในพรรคแกนนำรัฐบาลมีปัญหาบางอย่างที่ซุกซ่อน รวมทั้งท่าที “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” หลังทายาททางการเมืองโบกมือพ้นพรรคพท. จะออกมาเคลื่อนไหวในรูปแบบใดหรือไม่

อีกทั้งในเดือนสิงหาคม “นายทักษิณ ชินวัตร” ผู้มีบารมีเหนือรัฐบาลและพรรคพท. กำลังพ้นจากการพักโทษ กลายเป็นผู้ไม่มีคดีติดตัว ก่อนและประกาศในระหว่างลงพื้นที่ที่ จ.สุรินทร์ ว่า คิดว่ารัฐบาลหลังจากวันที่ 1 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป จะมีรูปธรรมมากขึ้น เพื่อให้เป็นผลประโยชน์กับพี่น้องประชาชน เราต้องให้กำลังใจกัน วันนี้เป็นวันที่ดี เริ่มต้นทำสมองให้โปร่งใส จะได้แก้ปัญหาให้กับทุกคนได้ ให้ทุกคนมีแต่ความสุข

ต้องรอดูบทบาทอดีตนายกฯ วันที่พ้นการพักโทษจะเข้าไปช่วยงานฝ่ายบริหารในรูปแบบไหน ท่ามกลางกระแสความนิยมที่ยังแพ้แกนนำพรรคฝ่ายค้าน รวมทั้งปัญหาในพรรคพท.ที่เกิดปัญหารอยร้าวเกิดขึ้น ในระหว่างบุตรสาวสุดที่รัก “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ถือธงนำในฐานะ “แม่ทัพหญิง” คงต้องบอกว่าความมุ่งหวังของอดีตนายกฯ ไม่ใช่เรื่องง่ายจริงๆ

ประเด็นสุดท้ายที่ยังตามต่อ หนีไม่พ้นความเคลื่อนไหววุฒิสภา หนึ่งในกลไกสำคัญขอฝ่ายนิติบัญญัติ หลังจากสมาชิกวุฒิสภา 200 คน เข้ารายงานตัวครบแล้ว ก็ถึงวาระสำคัญที่ต้องมีการเรียกประชุมวุฒิสภานัดแรก ซึ่งจะมีการเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภา โดยกำหนดไว้ในวันที่ 23 ก.ค. ซึ่งถือว่าตำแหน่งที่มีความสำคัญมากเพราะมีบทบาทในการเป็นผู้นำองค์กร กำหนดวาระการประชุม และมีส่วนกำหนดความเคลื่อนไหวทางการเมืองได้มากพอสมควร

เปิดตัวก่อนใครเพื่อนว่ามีความพร้อมในการชิงเก้าอี้สำคัญในวุฒิสภา คือ กลุ่มส.ว.พันธุ์ใหม่ นำมา โดย “น.ส.นันทนา นันทวโรภาส” ส.ว.สายสื่อมวลชน ในฐานะแกนนำกลุ่มสว.พันธุ์ใหม่ ซึ่งถือเป็นกลุ่มสุดท้ายที่เข้ามารายงาน ตัวส.ว.โดยสร้างสีสันด้วยการนำ เพื่อน ส.ว.ในกลุ่มฯ เดินถือป้ายสีรุ้งที่มีข้อความระบุว่า “ส.ว.พันธุ์ใหม่รับใช้ประชาชน” เข้ามารายงานตัว พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า ทาง กลุ่มส.ว.พันธุ์ใหม่ มีสมาชิก 30 คน และประกาศพร้อมส่งคนลงชิงตำแหน่งประธานและรองประธานวุฒิสภาฯ

โดยแจงเป้าหมายในการทำงาน สภาผู้แทนราษฎรอาจเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญ(รธน.) ในหมวดการได้มาซึ่ง สว. ต้องเปลี่ยนกติกา นอกจากนั้นเราก็จะผลักดันเรื่องต่างๆ ที่เป็นปัญหาของประชาชน ยกตัวอย่าง เช่น กรณีป่าทับลาน ปัญหาความขัดแย้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร. )ปัญหาเยาวชนที่ได้รับการจองจำโดยที่ไม่ได้รับการประกันตัว สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่เราจะเร่งผลักดันให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลง และประชาชนหวังว่า สว.ชุดใหม่จะแก้ปัญหาให้ได้

ในขณะที่สว.ส่วน สว.สายสีน้ำเงิน ที่คุมเสียงในสภาสูงประมาณ 130 คนนั้น ยังไม่มีข่าวการนัดรวมตัว เพื่อหารือ คงต้องรอดูความเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้ จะมีการนัดหมายเพื่อคุยถึงตำแหน่งประธานละรองประธานวุฒิสภาหรือไม่ ที่ผ่านมามีข่าวแคนดิเดตของสว.กลุ่มที่ยึดเสียงข้างมากในสภาฯ ที่ต้องการผลักดันให้เข้ามาเป็นผู้นำวุฒิสภา คือ “พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์” อดีตผู้ช่วยผบ.ทบ. เพื่อนร่วมรุ่นหลักสูตรป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 61 (วปอ.61) กับ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯ รมว.มหาดไทย และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย( ภท.) ทำให้ทั้ง พล.อ.เกรียงไกรและนายอนุทิน มีความสนิทสนมกันมาก ส่วนตัวเต็งอีกคนคือ “นายมงคล สุระสัจจะ” อดีตอธิบดีกรมการปกครอง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ลงสมัคร สว.กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคงจาก จ.บุรีรัมย์ ถือเป็นสายตรง “บ้านใหญ่บุรีรัมย์” ที่ทำงานรู้ใจกันมานาน

หรือทางแกนนำกลุ่มนี้คิดว่า มีเสียงข้างมากอยู่ในมือแล้ว ไม่จำเป็นต้องเคลื่อนไหวให้ฝ่ายตรงข้ามจับทางได้ รอวันเวลาที่มีการนัดประชุมวุฒิสภา แล้วโชว์พลังแบบม้วนเดียวจบ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายเลย ก็อาจเป็นไปได้ จากนี้ไปจนถึงวันที่มีการเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภา ต้องรอดูการต่อรองและการเดินเกมแต่ละฝ่าย จะเข้มข้นมากแค่ไหน.