เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่ห้องประชุม ชั้น 8 กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วธ. เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี 2567 ว่า วันที่ 29 ก.ค. ของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ โดยปี 2567 วธ.กำหนดจัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติ ในวันที่ 25 ก.ค. ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยมีกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย มอบเข็มและโล่เกียรติยศ แก่ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น และผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย รวม 18 รางวัล มอบรางวัล “เพชรในเพลง” ให้แก่นักร้องและผู้ประพันธ์เพลงไทยที่ใช้ภาษาไทยได้ถูกต้อง 14 รางวัล มอบรางวัลประกวดเพลงแร็ป “บอกรักษ์ภาษาไทย” 5 รางวัล และรางวัลอ่านทำนองเสนาะ “สดับร้อยกรองไทย” ครั้งที่ 3 จำนวน 6 รางวัล จัดนิทรรศการ ประวัติและผลงานของผู้ที่ได้รับรางวัล และการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม

นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า สำหรับบุคคลและองค์กรที่ได้เข็มและโล่เชิดชูเกียรติทางด้านภาษาไทย ประจำปี 2567 แบ่งเป็น 4 ประเภท ดังนี้ ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย จำนวน 2 ราย ได้แก่ ผศ.พรทิพย์ พุกผาสุข และ ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น จำนวน 11 ราย ได้แก่ 1.นางเทพี จรัสจรุงเกียรติ 2.นายชาครีย์นรทิพย์ เสวิกุล 3.นายณรงค์ฤทธิ์ คิดเห็น 4.นายธีระพงษ์ โสดาศรี 5.นางนันทพร แสงมณี 6.น.ส.ปาริฉัตร ศาลิคุปต 7.นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ 8.ผศ.วีรวัฒน์ อินทรพร 9.นายศราวุธ สุดงูเหลือม 10.ผศ.สรตี ปรีชาปัญญากุล และ 11.นายสุภาพ คลี่ขจาย ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น จำนวน 4 ราย ได้แก่ 1.นายไกรสร ฮาดคะดี 2.นายณรงค์ศักดิ์ กำเนิดทอง 3.นายปราโมทย์ ในจิต และ 4.นายเอ็ด ติ๊บปะละ รางวัลผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย จำนวน 1 องค์กร ได้แก่ สถาบันสุนทรภู่

“ผิงผิง” สรวีย์ ธนพูนหิรัญ

นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากร จัดกิจกรรมเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ปี 2567 ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ จัดพิมพ์หนังสือหายาก สัมมนาทางวิชาการด้านภาษาและวรรณคดีไทย และประกวดเพลง “เพชรในเพลง” เพื่อยกย่องบุคคลในวงการเพลงที่มีผลงานดีเด่นด้านภาษาไทย โดยรางวัลการประพันธ์เพลงดีเด่นด้านภาษาไทย จำนวน 4 รางวัล ได้แก่ 1.รางวัลชนะเลิศ ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงไทยสากล ได้แก่ นายปัณฑพล ประสารราชกิจ หรือ “โอม วงค็อกเทล” และนายธิติวัฒน์ รองทอง โปรดิวเซอร์ชื่อดัง จากเพลง ลั่นทม 2.รางวัลรองชนะเลิศ ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงไทยสากล ได้แก่ นายกฤตศิลป์ ฉลองขวัญ จากเพลง ดอกไม้จากดวงดาว 3.รางวัลชนะเลิศ ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงไทยลูกทุ่ง ได้แก่ นายจิรภัทร แจ่มทุ่ง จากเพลง ยามท้อขอมีเธอ 4.รางวัลรองชนะเลิศ ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงไทยลูกทุ่ง ได้แก่ นายสลา คุณวุฒิ จากเพลง อยากซื้อบ้านนอกให้แม่

“สปาย” ภาสกรณ์ รุ่งเรืองเดชาภัทร์

นายพนมบุตร กล่าวต่อไปว่า รางวัลการขับร้องเพลงดีเด่นด้านภาษาไทย จำนวน 8 รางวัล ได้แก่ 1.รางวัลชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงไทยสากลชาย ได้แก่ “สปาย” ภาสกรณ์ รุ่งเรืองเดชาภัทร์ จากเพลง คอย 2.รางวัลรองชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงไทยสากลชาย ได้แก่ นายธานินทร์ อินทรแจ้ง (ธานินทร์ อินทรเทพ) จากเพลง เดือนประดับใจ 3.รางวัลชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงไทยสากลหญิง ได้แก่ “ผิงผิง” สรวีย์ ธนพูนหิรัญ จากเพลง ดอกไม้จากดวงดาว 4.รางวัลรองชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงไทยสากลหญิง ได้แก่ น.ส.ปราชญา ศิริพงษ์สุนทร จากเพลง มรดกธรรม มรดกโลก 5.รางวัลชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งชาย ได้แก่ “นัน อนันต์” อนันต์ อาศัยไพรพนา จากเพลง ยามท้อขอมีเธอ 6.รางวัลรองชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งชาย ได้แก่ นายเสมา สมบูรณ์ หรือ “ไชยา มิตรชัย” จากเพลง รอยยิ้มก่อนจากลา 7.รางวัลชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งหญิง ได้แก่ “ใบเฟิร์น” สุทธิยา รอดภัย จากเพลง กราบหลวงพ่อใหญ่อ่างทอง และ 8.รางวัลรองชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งหญิง ได้แก่ น.ส.กาญจนา มาศิริ จากเพลง สารภาพรัก ส่วนรางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ จำนวน 2 รางวัล เชิดชูเกียรติครูเพลงผู้ใช้ภาษาวรรณศิลป์ดีเด่น ได้แก่ นายชัยรัตน์ วงศ์เกียรติ์ขจร และเชิดชูเกียรตินักแปลเพลง ได้แก่ นายธานี พูนสุวรรณ