สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ว่า นพ.เทดรอส แอดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการดับเบิลยูเอชโอ เตือนว่า ฝีดาษลิงยังคงเป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพทั่วโลก หลังมีรายงานผู้ป่วยเพิ่มเติมจาก 26 ประเทศ เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาเพียงเดือนเดียว และการระบาดของเชื้อไวรัสเอ็มพอกซ์สายพันธุ์ใหม่ ในดีอาร์คองโก

เมื่อไม่นานมานี้ มีรายงานผู้ป่วยในแอฟริกาใต้แล้ว 20 คน รวมถึงผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 ราย ถือเป็นผู้เสียชีวิตกลุ่มแรกในประเทศ นับตั้งแต่ปี 2565 มากไปกว่านั้น ไม่มีผู้ป่วยรายใดมีประวัติการเดินทางข้ามประเทศ ขณะที่การแพร่เชื้อในชุมชนยังดำเนินอยู่

ส่วนพื้นที่น่ากังวลและต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก ณ เวลานี้ ได้แก่ ดีอาร์คองโก เนื่องจากเชื้อไวรัสฝีดาษลิงสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาด ตั้งแต่เดือน ก.ย. ปีที่แล้ว

นพ.เทดรอสกล่าวว่า การระบาดดังกล่าวยังไม่มีสัญญาณของการชะลอตัว พร้อมเผยว่า เฉพาะในปีนี้มีรายงานผู้ป่วยสะสมแล้ว 11,000 คน และผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 445 ราย โดยเด็กได้รับผลกระทบมากที่สุด

ขณะที่ พญ.โรซามันด์ ลูวิส ผู้นำด้านเทคนิคเกี่ยวกับฝีดาษลิงของดับเบิลยูเอชโอ กล่าวว่า โรคฝีดาษลิงมีความเสี่ยงแพร่ระบาดข้ามประเทศ เนื่องจากการไปมาหาสู่ระหว่างพรมแดนประเทศเพื่อนบ้าน 

อนึ่ง ฝีดาษลิงได้รับการค้นพบครั้งแรกในมนุษย์ ที่ดีอาร์คองโก เมื่อปี 2513 เป็นการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์เคลด 1 ซึ่งส่วนใหญ่จำกัดเฉพาะในประเทศตะวันตกและแอฟริกากลางบางประเทศ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะติดเชื้อจากสัตว์ที่ป่วย โดยเฉพาะเมื่อรับประทานเนื้อสัตว์ป่า

สำหรับการติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิง ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกในเดือน พ.ค. 2565 ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเกย์และไบเซ็กชวล เป็นการระบาดของเชื้อสายพันธุ์เคลด 2 อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือน ก.ย. ปีที่แล้ว เชื้อฝีดาษลิงได้กลายพันธุ์และแพร่ระบาดในดีอาร์คองโก ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ รวมไปถึงในหมู่คนรักต่างเพศ เชื้อนี้มีชื่อเรียกว่า สายพันธุ์เคลด 1บี 

“จนถึงขณะนี้เชื้อสายพันธุ์ใหม่แพร่เชื้อจากคนสู่คนเท่านั้น” ดร.ลูอิสกล่าว เมื่อเดือน ก.ค. 2565 ดับเบิลยูเอชโอประกาศให้การระบาดของโรคฝีดาษลิง หรือเอ็มพอกซ์ เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ

แม้ยกเลิกการเตือนภัย เมื่อเดือน พ.ค. ปีที่แล้ว แต่ดับเบิลยูเอชโอยังคงแนะนำให้ประชาชนระมัดระวังต่อไป “ฝีดาษลิงจะไม่หายไป เราอยู่ในโลกที่เชื่อมโยงถึงกัน ดังนั้นการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสนี้จึงสามารถเกิดขึ้นต่อไปได้” พญ.มาเรีย ฟาน เคิร์กโฮฟ หัวหน้าฝ่ายรับมือโรคระบาดและการเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาด กล่าว พร้อมย้ำว่าต้องมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES