จากกรณี สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งปากพนัง ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสงขลา-นครศรี ได้จัดงบประมาณสนับสนุนการปฏิบัติการกำจัดปลาหมอคางดำ บริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียเนื้อที่ 184 ไร่ ของโครงการชลประทานเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลบ้านหน้าโกฐิ หมู่ 10 ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ในวันที่ 14 ก.ค. 2567 ได้ปลาหมอคางดำกว่า 3 ตัน ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. นายไตรรัตน์ ไชยรัตน์ รอง ผวจ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ไปเป็นประธานเปิดกิจกรรมคิกออฟไล่ล่าจับปลาหมอคางดำวานนี้ (14 ก.ค. 67) ทำให้ทราบว่ามีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง 2 อำเภอมาแล้ว 3-4 ปี ใน 16 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะใน จ.นครศรีธรรมราช พบเพิ่มอีก 1 อำเภอคือ อ.เชียรใหญ่ ทราบว่าเริ่มแพร่ระบาดในคลองเสือท้องหมู่ที่ 9 ต.เสือหึง อ.เชียรใหญ่ ซึ่งคลองเสือหึงมีพื้นที่ติดต่อกับ อ.หัวไทร ซึ่งมีปลาหมอคางดำแพร่ระบาดก่อนแล้ว แต่ยังไม่มากนัก ทางกรมประมงจึงกำหนดมาตรฐานต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้ปลาหมอคางดำลดน้อยลง ควบคุมการแพร่ระบาดไม่ให้ลุกลามออกไปมากกว่านี้

สำหรับบ่อบำบัดนำเสียโครงการชลประทานน้ำเค็มบ้านหน้าโกฐิ ถือว่าเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่เนื้อที่ 184 ไร่ ถือว่าเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดนครศรีธรรมราช ตนได้ลงเรือตรวจการณ์ไปตรวจสอบการจับปลาของชาวบ้านที่เดินทางมาจากต่างอำเภอ ต่างจังหวัด นำเรือและเครื่องมือประมงที่ตนเองถนัด เช่น ทอดแห ตกเบ็ด วางอวน ลากอวน นำขึ้นมาจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับครอบครัวไม่น้อย

แม้ราคาที่ทางราชการศูนย์ กปร. หรือโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ รับซื้อแบบคละไซซ์ กก.ละ 10 บาท ในขณะที่เอกชนรับซื้อแบบกำหนดขนาด กก.ละ 20 บาท สามารถสร้างรายได้พอสมควรวันละ 500-1,000 บาท ปัจจุบันชาวบ้านหลายครอบครัวได้ยึดอาชีพจับปลาหมอคางดำเป็นอาชีพหลักไปเลย นอกจากจับขายสด ๆ แล้ว ยังนำมาแปรรูปเป็นปลาแห้งขาย กก.ละ 300 บาท ปลาแดดเดียว กก.ละ 120-150 บาท กะปิหรือเคยลาหมอคางดำ กก.ละ 120-150 บาท ปลาเปรี้ยวบรรจุถุง ถุงละ 4-5 ตัวราคาถุงละ 20-30 บาท

รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวอีกว่า ตอนนี้มีผู้นิยมบริโภคปลาหมอคางดำเพิ่มมากขึ้น โดยนำมาประกอบอาหารได้หลายเมนู เหมือนปลาหรือสัตว์น้ำอื่น ๆ แต่เมนูยอดฮิตในขณะที่ที่ “เอ โพดำ” อินฟลูเอนเซอร์แนะนำเมนูอาหารชื่อดัง เจ้าของเพจ “ชิมแล – By เอโพดำ บันเทิงศิลป์” มีผู้ติดตามเกือบ 4 แสนคน เป็นผู้ปรุงสาธิตให้ตนและผู้ร่วมกิจกรรมรับประทานคือ “แกงส้มปลาหมอคางดำกับส้มเขาคัน” รสชาติสุดยอดมาก ๆ จริง ๆ ก็มีกระบวนการผลิตเหมือนแกงส้มปักษ์ใตทั่ว ๆ ไป เคล็ดลับความอร่อยอยู่ที่เครื่องแกงส้มปักษ์ใต้ และกะปิ ที่มีการนำกะปิหรือเคยปลาหมอคางดำ มาเป็นส่วนผสมลงไปด้วย

“หลังจากวันคิกออฟ ตนเชื่อว่าจะมีนักล่าปลาจากต่างอำเภอ ต่างจังหวัด เดินทางมาไล่ล่าจับปลาหมอคางดำในพื้นที่ อ.ปากพนัง และหัวไทร โดยเฉพาะในบอบำบัดน้ำเสียบ้านหน้าโกฐิ 184 ไร่ เพิ่มมากขึ้น ตนเป็นห่วงว่าจะเกิดกระกระทบกระทั่งกับชาวบ้านในพื้นที่เพราะถือว่าไปแย่งจับปลาหมอคางดำในพื้นที่ที่เขาประกอบอาชีพหารายได้เลี้ยงครอบครัวอยู่ แต่หลังจากได้รับคำยืนยันจากนายกิตติพงษ์ รองเดช นายอำเภอปากพนัง นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราช แกนนำขับเคลื่อนแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ และนายไพฑูรย์ อินทศิลา สื่ออาวุโสที่เกาะติดทำข่าวสถานการณ์ปลาหมอคางดำมาโดยตลอด ก็เบาใจ เพราะเขาได้เข้าไปพบปะ ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ ความเข้าใจและพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ชาวบ้านในพื้นที่ยินดีตอนรับนักล่าจากต่างพื้นที่ และยังจะได้รับการอำนวยความสะดวกและบริการดูแลแนะนำจากชาวบ้านในพื้นที่อย่างดีเยี่ยม จนมีนักล่าจากต่างอำเภอ ต่างจังหวัดหลายราย ถึงกับยกครอบครัวเข้ามาปักหลักทำแคมป์อยู่รอบ ๆ บ่อบำบัดน้ำเสีย เพื่อจับปลาหมอคางดำอย่างจริงจังต่อเนื่อง

ทางด้าน นายสำรอง อินเอก หัวหน้าฝ่ายบริการจัดการประมง รักษาการประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า หากสามารถควบคุมให้ปลาหรือสัตว์น้ำมีความสมดุลตามธรรมชาติก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือปลาหมอคางดำขยายพันธ์ุแพร่ระบาดในแหล่งน้ำจำนวนมากเกินไป เนื่องระยะเวลาในขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำเร็วมาก ประมาณ 20-22 วัน/ครั้ง อัตรารอดสูงกว่าปลาและสัตว์น้ำในท้องถิ่น เพราะมันมีวิธีการดูแลไข่และลูกปลาตัวเล็ก ๆ โดยอมไข่และลูกของมันไว้ในปาก ทำให้อัตรารอดสูงกว่าปลาหรือสัตว์น้ำต่างถิ่น และถึงแม้วิธีการระดมจับปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ จะช่วยลดจำนวนปลาหมอคางดำให้เกิดความสมดุลได้ในระดับหนึ่ง หากราคารับซื้อต่ำกว่า กก.ละ 20 บาท แรงจูงใจจะน้อย หากราคาสูง กก.ละ 20 บาทขึ้นไป นักล่าจะแห่กันมาประกอบอาชีพจับปลาหมอคางดำเพิ่มมากขึ้น จำนวนปลาหมอในแหล่งน้ำธรรมชาติก็จะไม่มากจนเกินไป

รักษาการประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ปลาหมอคางดำมีรูปร่างลักษณะคล้ายกับปลานิล ปลาหมอเทศมาก ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงแยกไม่ออก และเข้าใจว่าเป็นปลานิลชนิดใหม่ จะผิดกันที่ปลาหมอคางดำมีส่วนใต้คางเป็นสีดำสังเกตได้ชัดเจนมาก และตัวจะเล็กกว่าปลานิลและปลาหมอเทศมาก ส่วนมาตรการในการปล่อยปลานักล่าคือปลากะพงขาว เพื่อให้กินลูกปลาหมอคางดำ ก็ใช้ลูกปลากะพงขาวขนาดใหญ่ 5 ซม.ขึ้นไป หากตัวเล็กก็อาจจะตกเป็นผู้ถูกล่าเสียเอง เป็นเหยื่อของปลาหมอคางดำตัวใหญ่ ๆ ได้อย่างง่ายดาย ที่สำคัญเกษตรกรต้องลงทุนสูงมาก เพราะปลากะพงขาวขนาดใหญ่มีราคาค่อนข้างแพง.

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก “ชิมแล – By เอโพดำ บันเทิงศิลป์”