ตลอดเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา โครงการยุงโลก (ดับเบิลยูเอ็มพี) แทนที่ประชากรยุงลายบ้านในพื้นที่ ด้วยแมลงดัดแปลงทางชีวภาพ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียนไปแล้วมากกว่า 4,500 ราย ในปีนี้

“แทนที่จะใช้ยาฆ่าแมลงที่เป็นอันตราย เทคโนโลยีนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อทำให้แบคทีเรียที่มีชีวิตภายในยุง ถูกปล่อยออกไป เพื่อรักษาชีวิตของผู้คน” นายเนลสัน กริซาเลส นักชีววิทยา กล่าว

ด้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของโคลอมเบีย กล่าวว่า โครงการข้างต้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนายบิล เกตส์ อภิมหาเศรษฐีชาวอเมริกัน บรรลุผลสำเร็จที่น่าพอใจ โดยจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกลดลง 95% ในจังหวัดแอนติโอกัว ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ

ทั้งนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์กำลังผลิตยุงที่ติดเชื้อแบคทีเรีย “วูลบัคเคีย” เป็นแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไปในแมลงและยุงสายพันธุ์อื่น โดยหวังว่า ยุงลายบ้านเหล่านี้จะแพร่เชื้อดังกล่าวในป่าได้

แม้แบคทีเรีย วูลบัคเคีย จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของยุง และทำให้ยุงมีโอกาสติดเชื้อไวรัสเดงกีน้อยลง แต่ถ้ายุงมีการติดเชื้อ แบคทีเรียวูลบัคเคียก็จะทำให้เชื้อไวรัสเดงกีเติบโตในยุง และแพร่สู่มนุษย์ได้ยากขึ้น

“นี่ไม่ใช่การดัดแปลงทางพันธุกรรม เนื่องจากแบคทีเรียจะเข้าไปในเซลล์ของยุง และทำการดัดแปลงทางชีวภาพ” นางเบียทริซ
กิราลโด นักชีววิทยาอีกคนหนึ่งของดับเบิลยูเอ็มพี กล่าวเสริม

อนึ่งจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกพุ่งสูงในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา และภูมิภาคลาตินอเมริกา ประสบกับการระบาดครั้งเลวร้ายที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในช่วงเดือนแรก ๆ ของปีนี้ อันเป็นผลมาจากฤดูร้อนที่มีอากาศอบอ้าว ซึ่งรุนแรงขึ้นเพราะปรากฏการณ์สภาพอากาศเอลนีโญ

ในโคลอมเบีย ยุงที่ได้รับการดัดแปลงทางชีวภาพ จะถูกนำไปยังพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเชื้อไวรัสเดงกี ก่อนถูกปล่อยสู่ธรรมชาติ เพื่อทำให้พวกมันขยายพันธุ์ และแทนที่ประชากรยุงลายบ้านในพื้นที่อย่างช้า ๆ

ยุงติดเชื้อแบคทีเรียวูล บัคเคียชุดแรก ถูกนำไปปล่อยในเมืองเมเดยิน เมื่อปี 2558 จากนั้นจึงมีการดำเนินการในเมืองกาลี ซึ่งอินโดนีเซีย และบราซิล ก็ดำเนินการทดลองในลักษณะดังกล่าวเช่นกัน ส่วนเอลซัลวาดอร์ จะเริ่มดำเนินการในเร็ว ๆ นี้

แม้ในตอนนี้ โครงการข้างต้นถือเป็นโครงการริเริ่มของเอกชน ที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานท้องถิ่น แต่กริซาเลสหวังว่า มันจะกลายเป็น “นโยบายสาธารณะ” ในไม่ช้า.