เมื่อเร็วๆนี้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. จัดเวทีประชุมรับฟังความเห็น (Public Hearing) ต่อแนวทางการบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน หรือ Food surplus ของประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งธนาคารอาหารแห่งชาติของประเทศไทย (Thailand’s Food Bank) ณ โรงแรมสวิสโซเทล กรุงเทพฯ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ ทั้งในส่วนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนผู้บริจาคอาหาร ภาคการศึกษา และชุมชนหรือผู้แทนชุมชนผู้รับบริจาคอาหาร ซึ่งเข้าร่วมมากถึง 12 ชุมชนจากทั่วประเทศ อาทิ ศูนย์จิตอาสาเพื่อมวลชน จ.นครสวรรค์ เครือข่ายผู้นำชุมชนเขตลาดพร้าว เป็นต้น โดยในงานมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 60 คน นำไปสู่การจัดตั้ง Thailand’s Food Bank ให้เกิดขึ้นได้จริง

ดร.นวลวรรณ สงวนศักดิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสายงานกลยุทธ์องค์กร สวทช. กล่าวว่า จากที่ได้มีการเปิดตัว “โครงการจัดตั้งธนาคารอาหารของประเทศไทย (Thailand’s Food Bank): การบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน คำตอบในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ณ โรงเรียนคลองทรงกระเทียม เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ ที่ สวทช. ร่วมกับมูลนิธิ SOS ได้รับการสนับสนุนจาก สวก. และหน่วยงานพันธมิตรจัดขึ้น นำมาสู่เวทีเปิดรับฟังความเห็น (Public Hearing) ต่อแนวทางการบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน หรือ Food surplus ของประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งธนาคารอาหารแห่งชาติของประเทศไทย (Thailand’s Food Bank) ในวันนี้ ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการ “การศึกษาแนวทางบริหารจัดการอาหารส่วนเกินหรือ Food surplus (กรณีศึกษาพื้นที่นำร่อง กทม. และ ต่างจังหวัด)” เพื่อช่วยแก้ไขในเรื่องปัญหาการสูญเสียอาหารหรือขยะอาหาร ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารของประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างเหมาะสม

ดร.ปัทมาพร ประชุมรัตน์ นักวิจัยนโยบาย สวทช. หัวหน้าโครงการการจัดตั้งธนาคารอาหารของประเทศไทย กล่าวว่า โครงการการศึกษาแนวทางบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน หรือ Food surplus ได้ทำการศึกษาและทบทวนกฎระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เครื่องมือกลไกสนับสนุน รวมถึงข้อเสนอแนะเพื่อการขยายผล ซึ่งส่วนหลังเป็นหนึ่งในที่มาของการประชุมรับฟังความเห็นวันนี้ โดยจุดสำคัญของอาหารส่วนเกิน พบว่า 1 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตขึ้นมา จะถูกทิ้ง ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรที่ใช้ในการผลิต รวมถึงยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศด้วย ที่ผ่านมาโครงการฯ ได้มีการพยายามพัฒนาแนวทางการบริจาคอาหารส่วนเกินออกมาให้เหมือนกับประเทศอื่น ๆ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดมาตรการต่าง ๆ เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี มาตรการด้านคาร์บอน เพื่อส่งเสริมการบริจาคอาหารส่วนเกินให้กับ Food Bank เหมือนเช่นในหลาย ๆ ประเทศ ทั้งในเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์และคาร์บอนเครดิต ซึ่งการมีคาร์บอนเครดิตกับการบริจาคอาหารส่วนเกิน อยากเห็นภาพของ Food Bank ในประเทศไทยที่ขายคาร์บอนเครดิตจากการลดปริมาณขยะอาหาร ดังที่เกิดขึ้นจริงแล้วในประเทศเม็กซิโก ซี่งจะช่วยพลิกโฉมการดำเนินงาน Food Bank จากเดิมในรูปแบบการกุศล เป็นการขายคาร์บอนเครดิตที่ทำให้มีโอกาสเลี้ยงดูตัวเองได้ อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานในส่วนนี้ยังต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ (audit) ที่จะเกิดขึ้นด้วย โดยข้อเสนอแนะมาตรการ 2 ด้านที่จะสนับสนุนคือ มาตรการภาษี และคาร์บอนเครดิต นับเป็นแนวทางเพื่อให้การจัดตั้ง Food Bank เกิดขึ้นได้จริงและไปต่อได้อย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น

สวทช. มีเทคโนโลยีที่ช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการอาหารส่วนเกินในหลายส่วน อย่างแพลตฟอร์มดิจิทัลแนะนำการจับคู่ความต้องการและอาหารบริจาคแบบอัตโนมัติ ของเนคเทค ที่นำไปเชื่อมต่อกับระบบ Cloud Food Bank ของมูลนิธิ SOS เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการรับบริจาคให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น กรมอนามัยฝากเรื่องโภชนาการกับการบริจาคอาหารให้เด็ก ต่อไปทุกอย่างจะบรรจุในแพลตฟอร์มนี้ เป็นต้น

ต้องสร้างแรงจูงใจให้เกิดการบริจาคอย่างต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ที่ปรึกษาโครงการวิจัย และนักวิชาการอิสระ กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการบริจาคอาหารส่วนเกินคือ การสร้างเครือข่าย โดยเป็นเครือข่ายความร่วมมือกับผู้บริจาคกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้มีจำนวนพันธมิตรผู้บริจาคมากกว่า 1,200 แบรนด์ (ปี 2567) ซึ่งเป็นเรื่องลำดับแรก ๆ

จากนั้นที่ประชุมได้เปิดเวทีให้มีการระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อแนวทางในการบริหารจัดการอาหารส่วนเกินในบริบทของประเทศไทย หนึ่งในความคิดเห็นอยากให้มีจุดพักอาหารหรือมีห้องเย็นที่เก็บอาหารไว้ได้ ขณะที่ตัวแทนมูลนิธิ SOS ได้เสนอว่า อยากให้หน่วยงานของภาครัฐร่วมแชร์ข้อมูลพื้นที่ตั้งของกลุ่มเปราะบางว่าอยู่ที่ใดบ้าง เพราะการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างเครือข่ายต่าง ๆ ร่วมกันจะทำให้ SOS สามารถนำอาหารไปส่งได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย และลดค่าใช้จ่ายในด้านค่าน้ำมันขนส่งได้ด้วย

นอกจากนี้ มีการเสนอว่าอาจจะหาแนวทางหรือมาตรการจูงใจให้บริษัทหรือหน่วยงานด้านโลจิสติกส์ เช่น ไปรษณีย์ บริษัทขนส่ง อย่างการลดหย่อนภาษี เพื่อให้ผู้รับอาหารสามารถรับได้ใกล้และสะดวกที่สุดได้ รวมถึงยังมีผู้แทนจากหน่วยงานให้บริจาคเสนอว่า มาตรการภาษีจะเป็นแรงจูงใจสำหรับเอกชน เพราะ BOI มีกลไกการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชน ถ้า Food surplus เข้าไปเชื่อมต่อมาตรการตรงนี้ได้จะเป็นการดีอย่างมาก เช่น การบริจาครถสำหรับขนส่ง และให้เอกชนที่บริจาคสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ เป็นต้น เหล่านี้นับเป็นเพียงบางส่วนของการสะท้อนมุมมองข้อคิดเห็นต่อการบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งธนาคารอาหารของประเทศไทยให้เกิดขึ้นได้