จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลรวม 3 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีร่วมกันกระทำการทุจริตการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ และหรือทุจริตการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ EA ผ่านบริษัทย่อย 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท อีเอ โซล่า นครสวรรค์ จำกัด และบริษัท อีเอ โซล่า ลำปาง จำกัด เป็นเหตุให้บุคคลทั้ง 3 ราย ได้รับผลประโยชน์ รวม 3,465.64 ล้านบาท การกระทำของบุคคลดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 และมาตรา 89/7 ประกอบมาตรา 89/24 มาตรา 311 มาตรา 313 และมาตรา 315 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังได้แจ้งการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ข้างต้นต่อสำนักงาน ปปง. อันเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 14 ก.ค. “ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์” ได้รับการเปิดเผยจาก พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่า ภายหลังจากที่ ก.ล.ต. ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลทั้ง 3 ราย มายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งขั้นตอนแรกทางกองบริหารคดีพิเศษ จะดำเนินการประมวลข้อมูลและส่งเอกสารรายละเอียดพฤติการณ์ตามที่ ก.ล.ต. ได้ร้องทุกข์ไปยังกองคดีที่มีความเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการทุจริต โดยเฉพาะหากเป็นการร้องทุกข์กล่าวโทษด้วย พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งกองคดีที่จะต้องรับผิดชอบ จะมีการตั้งเลขสืบสวนคดี และตั้งคณะพนักงานสืบสวนเพื่อเข้าสู่กระบวนการสืบสวนสอบสวน รวบรวมข้อเท็จจริง และแสวงหาพยานหลักฐาน เบื้องต้นคาดว่าอาจเป็นกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน ที่จะเข้ามารับผิดชอบดำเนินการ ก่อนที่กองคดีจะมีการนำเสนอเรื่องมายังอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่าเรื่องดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นคดีพิเศษตามแนบท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547

พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า  สำหรับขั้นตอนการดำเนินการของดีเอสไอในช่วงแรก คณะพนักงานสืบสวนจะต้องไปตรวจสอบรายละเอียดตามที่ ก.ล.ต. ได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษไว้ว่ามีบุคคลใดบ้างที่มีพฤติการณ์การทุจริตอย่างไร เพื่อพิจารณาว่าจะต้องเรียกพยานหลักฐาน หรือเรียกเอกสารในส่วนใดเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่ และจนกว่าจะพบข้อเท็จจริง ก่อนมีมติออกหมายเรียกพยานมาสอบปากคำ หรือถ้าหากพบความชัดเจนอันเป็นประจักษ์ รวบรวมพยานหลักฐานแล้วพบว่าบุคคลทั้ง 3 รายมีความผิดตามที่ ก.ล.ต. กล่าวโทษ ดีเอสไอก็สามารถออกหมายเรียกผู้ต้องหาเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีได้เช่นเดียวกัน

พ.ต.ต.ยุทธนา เผยต่อว่า นอกจากนี้ ในช่วงต้นสัปดาห์ ตนจะดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมดภายในเอกสารที่ ก.ล.ต. ที่ได้ระบุร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลทั้ง 3 รายมายังดีเอสไอ เพื่อจะได้วางกระบวนการพิจารณาการสืบสวนสอบสวน กำหนดแนวทางการทำงานทางคดีอาญา การตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน สำรวจมูลค่าความเสียหายภาพรวม อุปสรรคหรือปัจจัยทางคดี เป็นต้น รวมถึงอาจจะต้องมีการเชิญผู้แทนจาก ก.ล.ต. ในฐานะที่เป็นผู้ตรวจสอบเหตุเบื้องต้นมาพูดคุยหารือในประเด็นอื่นที่ดีเอสไอเห็นควรสงสัย หรือประสงค์ขอข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อที่การตรวจสอบดังกล่าวจะได้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย และให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริง ส่วนประเด็นว่ากรรมการทั้ง 3 รายที่ถูก ก.ล.ต. กล่าวโทษนั้น จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ภายในบริษัทที่สังกัดทันทีหรือไม่ ส่วนนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของ ก.ล.ต. ที่จะมีดุลพินิจข้อสั่งการตามขั้นตอนกฎหมาย

ขณะที่ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ เผยว่า การร้องทุกข์กล่าวโทษดังกล่าวของ ก.ล.ต. ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีการส่งเรื่องเข้ามาเมื่อวันศุกร์ที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยขั้นตอนจากนี้จะมีการส่งเรื่องไปยังกองบริหารคดีพิเศษ เพื่อดำเนินการประมวลเรื่องทั้งหมด และตามขั้นตอนก็จะต้องมีการเสนออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อสั่งการมอบหมายให้หน่วยงานภายในกรมฯที่เกี่ยวข้องดำเนินการสืบสวนสอบสวน โดยหากพิจารณาจากลักษณะรายคดี เบื้องต้นอาจเป็นกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน เนื่องจากเป็นเรื่องของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ เว้นแต่อธิบดีฯ มีเหตุจำเป็น อาจมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เช่น ตั้งคณะทำงานระดับกรม เป็นต้น.