นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยถึงกรณีสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน เปิดสำรวยความเห็นข้อเสนอ 3 ทางเลือกปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในงวดสุดท้ายของปี (ก.ย. – ธ.ค.) ประกอบด้วยแนวทางแรกขึ้นค่าไฟฟ้าไม่มาก และทยอยคืนหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพียงเล็กน้อย ค่าไฟจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.65 บาทต่อหน่วย, ขึ้นค่าไฟฟ้าพร้อมกับคืนหนี้ กฟผ.บางส่วน ค่าไฟจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.92 บาทต่อหน่วย และขึ้นค่าไฟฟ้าสูงสุดตามต้นทุนที่แท้จริง เพื่อคืนหนี้ให้ กฟผ.เต็มวงเงิน ค่าไฟจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.01 บาทต่อหน่วย จากงวดปัจจุบันค่าไฟอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยว่า หากสุดท้ายกกพ.เลือกที่จะปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าครั้งนี้ แม้ว่า จะปรับน้อยสุดตามข้อเสนอ 4.65 บาทหรือ 11% เทียบกับงวดปัจจุบัน ถือเป็นการซ้ำเติมธุรกิจเอสเอ็มอี และประชาชนที่ใช้ไฟฟ้าได้รับความเดือดร้อนเป็นห่วงโซ่อย่างแน่นอน

ทั้งนี้เมื่อบวกกับปัจจัยเสี่ยงรอบด้านทั้งหนี้ครัวเรือนและหนี้นอกระบบ ทำให้เอสเอ็มอียิ่งอยู่รอดยากในสภาวะค่าครองชีพสูง ค่าแรงงานเตรียมปรับ  รวมทั้งต้นทุนดำเนินธุรกิจเอสเอ็มอีที่ถาโถมกระหน่ำไม่หยุดยั้ง ซึ่งถ้ารัฐบาลและภาครัฐหน่วยงานที่ดูแลพลังงานไม่สามารถทำให้ประชาชนทั้งประเทศได้รับความเป็นธรรมในต้นทุน และราคาที่เหมาะสมกับการยังชีพดำเนินชีวิต ธุรกิจที่แข่งขันได้จะเป็นตัวเร่งความเหลื่อมล้ำถ่างห่างออกไป และจะขยายวงเป็นวิกฤตความยั่งยืนไทย ที่แต่ละหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องปักหมุดเป็นเป้าหมายก็จะเป็นแค่ “วาจาประดิษฐ์สร้างภาพลักษณ์ที่งดงาม แต่ปราศจากการแก้ไขที่ตอบโจทย์ประชาชนอย่างแท้จริง”

“ แนวทางของเอมสเอ็มอีขอให้รัฐช่วยหาวิธีตรึงค่าไฟเท่าเดิม หรือถ้าเป็นไปได้ขอให้ปรับลดค่าไฟลงมา เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศที่มีกำลังซื้อลดลง อัตราหการขยายตัวทางเศรษฐกิจ  หรือจีดีพี ไตรมาส 1 ปี 67 เพียง 1.5%  ต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน ส่งผลกระทบกับรายได้ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในทุกขนาด การเพิ่มขึ้นของต้นทุน วัตถุดิบ ปัจจัยการผลิต ดอกเบี้ย ตามมาด้วยค่าน้ำมันก่อนหน้านี้ที่ปรับเพิ่มถึง 10% ส่งผลกระทบภาคการผลิต ภาคการค้า ภาคการบริการ ภาคธุรกิจเกษตรและภาคขนส่งที่มีการปรับราคาค่าขนส่งเพิ่มขึ้น 3-9 % ขณะที่ข้อมูลกระทรวงพลังงานพบว่า โครงสร้างการใช้พลังงานไฟฟ้ามีสัดส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ 33% บ้านเรือนที่อยู่อาศัย 31% รายกลาง 16% รายย่อม 14%  เห็นได้ว่า ถ้ายิ่งปรับขึ้นค่าไฟ จะยิ่งซ้ำเติมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และผลสำรวจความต้องการผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลายๆสำนัก ระบุตรงกันว่า  ส่วนใหญ่ต้องการให้แก้ไขต้นทุนและค่าใช้จ่ายทั้งการควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ลดค่าไฟ การลดอัตราการเก็บค่าสาธารณูปโภค การควบคุมราคาสินค้าและวัตถุดิบ”