นับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการตำรวจ เมื่อ พ.ต.อ.บรรดล ตัณฑไพบูลย์ วัย 76 ปี มือปราบตี๋ใหญ่ ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งปอด ที่โรงพยาบาลตำรวจ

พ.ต.อ.บรรดล สร้างชื่อจากการเป็นหนึ่งในทีมสืบสวนที่สามารถจับตาย “ตี๋ใหญ่” หรือ นายกรประเสริฐ ช่างเขียน จอมโจรชื่อดังในช่วงปี 2516-2524 ซึ่งก่อคดีปล้นฆ่ามากมาย จาก อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ได้แผ่ขยายเข้ามาในกรุงเทพฯ ก่อคดีมากมาย สร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนอย่างหนัก

พ.ต.อ.บรรดล ในขณะนั้น เป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตรตำแหน่ง รอง สวป.สน.ห้วยขวาง ถูกตามตัวให้เข้าไปทำงานสืบสวนหาข่าว หนึ่งในแผนการตามล่าปิดบัญชี “ตี๋ใหญ่” ซึ่งหากงานพลาด ถูกระแวงสงสัยจับได้ว่าเป็นตำรวจ ตายสถานเดียว การทำงานของเขาจึงเหมือนแขวนชีวิตอยู่บนเส้นด้าย แต่ในที่สุดก็ปิดบัญชี “ตี๋ใหญ่” จอมโจรร้ายลงได้สำเร็จ โดยถูกจับตายเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 24

ชื่อของ พ.ต.อ.บรรดล ได้รับการยกย่องกล่าวขานในห้วงเวลานั้นเป็นต้นมา

สำหรับประวัติของ พ.ต.อ.บรรดล นั้น เป็นคนจังหวัดลำปาง ไปโตที่เชียงใหม่ เรียนหนังสือโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ก่อนมาเรียนชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ แผนกศิลป์-เยอรมัน ก่อนเข้ามาสมัครเป็นตำรวจสังกัดกองสืบสวนภูธรภาค 1 ยุค พล.ต.ท.จำรัส มังคลารัตน์ คุมหน่วยตำรวจภูธรทั่วประเทศ เพราะชอบชีวิตโลดโผนผจญภัยมาตั้งแต่เด็ก

พ.ต.อ.บรรดล ไม่ค่อยกลัวคน ไม่ชอบให้ใครมารังแก ยิ่งโจรผู้ร้าย ไม่มีคำว่ากลัวอยู่ในหัว สมกับความตั้งใจที่อยากเป็นตำรวจ ก่อนจะได้รับภารกิจสำคัญตั้งแต่ชั้นประทวน ให้แฝงตัวเป็นโจรเข้าไปอยู่ในแก๊งของ ตี๋ใหญ่ หลังยุคนั้นชาวบ้านต่างเดือดร้อนและหวาดผวากันอย่างหนัก โดยอยู่กับสายนานกว่า 5 เดือน เรียกว่ากินนอนจนสนิทสนมแยกไม่ออกแล้วว่าเป็นตำรวจอยู่

พ.ต.อ.บรรดล สามารถเจาะข้อมูลส่งข่าวให้ทีมงานวางแผนจับกุมลูกน้องของตี๋ใหญ่ได้หลายคน ทำให้ตี๋ใหญ่ เริ่มระแวงว่าต้องมีใครสักคนในกลุ่มทำตัวเป็นหนอนบ่อนไส้ หลังจากลูกน้องคนสนิทถูกตำรวจบุกล้อมจับถึงแหล่งกบดาน ก่อนวิสามัญฆาตกรรมวันเดียว 4 ศพในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลดุสิต และพญาไท

เมื่อรู้ว่า การเข้าไปแฝงตัวของ พ.ต.อ.บรรดล ส่อจะเกิดอันตราย จึงได้ให้ถอนตัวออกมาทันที แต่ยังคงให้ร่วมสืบสวนล่าตัว ตี๋ใหญ่ จนแล้วจนรอดก็ยังจับตัวไม่ได้ ซ้ำเมื่อปี 22 ในพื้นที่เมืองนนทบุรี ได้ทำการล้อมจับ ตี๋ใหญ่ แต่ก็ยังไม่ได้ตัว แถมตำรวจยังถูกยิงเสียชีวิต จากนั้น ตี๋ใหญ่ ก็ถูกจับตายจนได้เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 24 ปิดบัญชีโจรชื่อก้องได้สำเร็จ

เส้นทางชีวิตของ พ.ต.อ.บรรดล มีความใฝ่ฝันอยากเป็นตำรวจสืบเหนือมาก ตั้งเป้าไว้กับตัวเองว่า ชาตินี้ทั้งชาติต้องเป็นตำรวจสืบสวนเหนือให้ได้ แล้วฝันก็กลายเป็นจริง ได้เป็น รองสารวัตรกองสืบสวนเหนือ ใช้ชีวิตนักสืบอยู่ที่นั่นนาน 6 ปี ได้รับโล่เกียรติยศสืบสวนดีเด่นครั้งแรกในชีวิต แต่ก็เกือบสังเวยชีพมา 1 ครั้ง หลังไปล้อมจับมือปืนรับจ้างกับ พล.ต.ท.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ที่เวลานั้นเป็นสารวัตรสืบสวนเหนือ

กระทั่ง “สมเกียรติ พ่วงทรัพย์” ย้ายไปขึ้นเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธร 7 จังหวัดลำปาง เลยดึง พ.ต.อ.บรรดล ไปเป็นมือทำงาน ตำแหน่งสารวัตรสืบสวนเมืองเชียงใหม่ กลับถิ่นเกิด เป็นจังหวะที่ พล.ต.ต.สมพงษ์ คงเพชรศักดิ์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งสารวัตรใหญ่เมืองเชียงใหม่ ได้ก่อตั้งหน่วยสืบสวนเหยี่ยวดำขึ้นมา จึงตั้งให้ พ.ต.อ.บรรดล เป็นหัวหน้าชุดเฉพาะกิจเหยี่ยวดำ กลายเป็นที่มาของฉายา “มือปราบเหยี่ยวดำ” ติดตัว พ.ต.อ.บรรดล ถึงปัจจุบันนี้

พ.ต.อ.บรรดล ต้องย้ายไปหลายตำแหน่ง ต่อมา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เวลานั้นเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พ.ต.อ.บรรดล ได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 จึงดึงเขาไปเป็นรองผู้กำกับสืบสวนภูธรภาค 2 ช่วยปราบปรามผู้มีอิทธิพลของเจ้าพ่อภาคตะวันออก

มือปราบเหยี่ยวดำ จำต้องย้ายกลับเข้ากรุงอีกครั้ง เมื่อ พล.ต.ท.โสภณ วาราชนนท์ เป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล จัดกระบวนทัพนักสืบใหม่ ให้ พ.ต.อ.บรรดล เป็นรองผู้กำกับการสืบสวนนครบาลธนบุรี ปราบโจรทุกรูปแบบตามสไตล์

พ.ต.อ.บรรดล เติบโตในงานตำรวจทั้งงานสืบสวน และงานอำนวยการ จนเกษียณในตำแหน่ง รองผู้บังคับการภูธรจังหวัดสระบุรี

ตำนานชีวิตนักสืบของ พ.ต.อ.บรรดล ตัณฑไพบูลย์ นั้น ผ่านประสบการณ์มากมายหลายรูปแบบ จนตำรวจนักสืบรุ่นหลังต้องสนใจศึกษาแนวทางหลายอย่างนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ

นอกจากนี้ วีรกรรมของ พ.ต.อ.บรรดล ได้รับการถ่ายทอดเป็นละครโทรทัศน์เรื่อง “มือปราบเหยี่ยวดำ” ทางช่อง 7 เมื่อปี 61 ซึ่งได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม.

เครดิตภาพ : facebook/หนังสือ “มือปราบเหยี่ยวดำ” บรรดล ตัณฑไพบูลย์ ตำนานนักสืบ, Cop’s Magazine และ Police News Varieties