เมื่อวันที่ 13 พ.ค. ที่โรงแรมมารวยการ์เด้น กรุงเทพฯ นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า กทพ. จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 (สรุปผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1 (ศรีรัช-ถนนประเสริฐมนูกิจ) ซึ่งผลการศึกษาได้ข้อสรุปว่า แนวสายทางที่เหมาะสมที่สุด มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางด่วนศรีรัชตัดกับถนนงามวงศ์วาน แนวสายทางไปตามแนวถนนงามวงศ์วาน ผ่านแยกพงษ์เพชร แยกบางเขน แยกเกษตร เข้าถนนประเสริฐมนูกิจ เชื่อมต่อกับตอน N2 ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกฯ
นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า โครงการนี้มีระยะทางรวมประมาณ 10.55 กิโลเมตร (กม.) โดยเป็นอุโมงค์ใต้ดินหัวกลม ระยะทาง 6.31 กม. อุโมงค์สี่เหลี่ยม 1.75 กม และเป็นทางยกระดับ 2.49 กม. เบื้องต้นโครงการมีวงเงินรวม 49,220 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 44,532 ล้านบาท, ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 3,615 ล้านบาท และค่าควบคุมงานก่อสร้าง 1,065 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าจะศึกษาความเหมาะสมฯ และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้วเสร็จภายในปี 67 และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติดำเนินโครงการได้ในปี 68 หากเห็นชอบจะดำเนินการออกแบบรายละเอียดฯ และจัดทำเอกสารประกวดราคา เริ่มก่อสร้างปี 69 แล้วเสร็จ และเปิดให้บริการในปี 74
นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า ยังยืนยันว่าถนนรัตนาธิเบศร์ และถนนเกษตร-นวมินทร์ มีปัญหาการจราจรติดขัดมากเกือบทั้งวัน ซึ่งยอมรับว่าการสร้างทางด่วนดังกล่าวขึ้นมา มีความจำเป็นในการช่วยแก้ไขปัญหาจราจร โดยจะสามารถแยกรถทางไกลที่ต้องการเดินทางจากฝั่งตะวันออกไปตะวันตก หรือตะวันตกไปตะวันออกของกรุงเทพฯ ออกจากการเดินทางระยะใกล้ได้ และการสร้างอุโมงค์รถยนต์ไม่ใช่ครั้งแรกของโลก อีกทั้งไม่ได้พ่นมลพิษให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ทางขึ้นลงอุโมงค์ทางด่วน เพราะจะมีตัวกรองมลพิษก่อนปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ ขณะที่ค่าผ่านทางเบื้องต้นอยู่ที่ 70 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ กทพ. ขาดทุนอยู่ แต่หากเก็บแพงกว่านี้ก็คงไปไม่รอด อย่างไรก็ตาม ขอน้อมรับทุกความคิดเห็นของประชาชน จะขอนำเรื่องค่าผ่านทาง รวมถึงความคิดเห็นต่างๆ ไปหารือกับกระทรวงคมนาคม และคระรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาก่อน
นายสุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า กทพ. ไม่ได้มีเจตนาทำให้ประชาชนเดือดร้อน แต่ต้องการทำให้การเดินทางของคนกรุงเทพฯ ราบรื่น มีความสะดวกสบาย ช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัด ซึ่ง กทพ. จะพยายามทำให้ดีที่สุด ส่วนที่มีประชาชนบางส่วนต้องการให้ กทพ. พิจารณายกเลิกโครงการฯ นั้น กทพ. ไม่สามารถตอบได้ว่าจะยกเลิกโครงการนี้หรือไม่ เรื่องนี้ยังต้องผ่านการพิจารณาจากอีกหลายหน่วยงาน และต้องเสนอให้กระทรวงคมนาคม รวมทั้ง ครม. เป็นผู้พิจารณาตัดสินใจ สำหรับกรณีที่ประชาชนอยากให้มีรถไฟฟ้ามากกว่าทางด่วนนั้น ในฐานะที่เคยทำรถไฟฟ้ามาก่อน ก็ได้เห็นว่าแม้จะมีรถไฟฟ้า แต่ปัญหารถติดบนถนนสุขุมวิท หรืออโศก ก็ยังมีเหมือนเดิม โดยรถไฟฟ้าเป็นทางเลือกหนึ่งในการเดินทาง ซึ่งทางด่วนก็เป็นทางเลือกในการเดินทางให้ประชาชนเช่นกัน
“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า การประชุมครั้งนี้ มีประชาชนเข้าร่วมทั้งแบบออนไลน์ และออนไซต์ กว่า 400 คน ซึ่งเสียงของประชาชนทุกคนที่ได้ลุกขึ้นแสดงความคิดเห็นนั้น ไม่เห็นด้วยกับการสร้างอุโมงค์ โดยมองว่า ไม่ตอบโจทย์การเดินทาง และการแก้ปัญหาการจราจรติดขัดให้กับคนในพื้นที่ เป็นการใช้งบประมาณโดยไม่คุ้มค่า อีกทั้งขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งผลก็เห็นชัดว่ารถไฟฟ้าสายสีแดง และสายสีม่วงมีคนมาใช้บริการเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงสนับสนุนเต็มที่กับการสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) มากกว่าสร้างอุโมงค์ทางด่วน โดยเฉพาะผู้แทนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ให้ความเห็นว่า ไม่เห็นด้วยกับการสร้างทางด่วนตั้งแต่แรกแล้ว หากสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะไม่ขัดขวางเลย จะยอมทุบรั้ว มก. อีกครั้ง เพื่อให้เกิดการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ที่ต้องเข้ามาใช้พื้นที่บริเวณแนวรั้วของ มก. ประมาณ 0.5 กม.
สำหรับอุโมงค์ทางด่วน N1 ถือเป็นทางด่วนใต้ดินสายแรกของประเทศไทย มี 4 ช่องจราจร เป็นอุโมงค์ใต้ดิน 2 ชั้น ชั้นละ 2 ช่อง อุโมงค์ชั้นบนรับรถจากด่วนศรีรัชมุ่งหน้าถนนเกษตร-นวมินทร์ อุโมงค์ชั้นล่างรับรถจากถนนเกษตร-นวมินทร์ ไปทางด่วนศรีรัช อุโมงค์มีความกว้างประมาณ 15.9 เมตร และลึกประมาณ 40 เมตร เท่ากับตึก 15-16 ชั้น โดยบริเวณแยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อุโมงค์ทางด่วนจะสร้างอยู่เหลื่อมๆ กันกับอุโมงค์ทางลอดแยก ม.เกษตรศาสตร์ ไม่ได้อยู่ซ้อนกัน