รศ.นพ.วีรศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้พูดถึงเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว หมอหมู วีระศักดิ์ ซึ่งเปิดผลการศึกษาพบว่า การทำงานเป็นกะ เพิ่มความเสี่ยงต่อการหลั่งเร็วจริงหรือไม่?

โดยคุณหมอหมู ระบุข้อความว่า งานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ใน BMC Public Health ได้ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างความผิดปกติด้านการนอนที่เกิดจากการมีเวลาทำงานที่ไม่ปกติ (Shift Work Sleep Disorder (SWSD)) เช่น การทำงานเป็นกะ (shift work) กับการหลั่งเร็ว (Premature Ejaculation, PE)

โดยเป็นการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างชาย จำนวน 1,239 คน จากหลายภูมิภาคในประเทศจีน ในระหว่างเดือนเมษายนถึงตุลาคม 2023 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย ดังนี้

1. พนักงานที่ทำงานเป็นกะ จำนวน 399 คน ซึ่งพบว่าพนักงานที่ทำงานเป็นกะ จำนวน 148 คน มีภาวะความผิดปกติด้านการนอนที่เกิดจากการมีเวลาทำงานที่ไม่ปกติ (SWSD)
2. พนักงานที่ไม่ได้ทำงานเป็นกะ 840 คน

ผู้ที่มีภาวะความผิดปกติด้านการนอนที่เกิดจากการมีเวลาทำงานที่ไม่ปกติ (SWSD) มีแนวโน้มที่จะมีดังนี้

1. เกิดปัญหาการหลั่งเร็ว (PE) มากกว่าเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ทำงานเป็นกะ
2. การทำงานเป็นกะน้อยกว่า 1 ปีไม่ส่งผลกระทบต่อปัญหาการหลั่งเร็ว อย่างมีนัยสำคัญ
3. ในขณะที่การทำงานเป็นกะนานกว่า 1 ปีจะเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาการหลั่งเร็ว อย่างมีนัยสำคัญ โดยผลกระทบนี้จะรุนแรงมากขึ้นหลังจากทำงานเป็นกะเกินกว่า 3 ปี
4. การทำงานเป็นกะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนสเตียรอยด์ในร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำ และอาจทำให้สมรรถภาพทางเพศลดลง ซึ่งล้วนเป็นการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาปัญหาการหลั่งเร็ว โดยตรงหรือโดยอ้อม

นอกจากนี้ ข้อจำกัดประการหนึ่งของการศึกษานี้คือการใช้แบบสอบถาม เพื่อประเมินคุณภาพการนอนหลับของผู้เข้าร่วม ซึ่งอาจมีความแม่นยำน้อย

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทั้งหมดที่ผมนำเสนอมีการอ้างอิงแหล่งที่มาชัดเจน และผมได้พยายามอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ แต่บางครั้งอาจมีการโต้แย้งในข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องปกติในแวดวงวิชาการ ดังนั้นจึงขอเรียนทุกท่านว่า โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านบทความของหมอหมู และควรหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อความถูกต้องอีกครั้ง.

ขอบคุณข้อมูล : หมอหมู วีระศักดิ์