เมื่อวันที่ 11 ก.ค. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร (ศอ.ปส.กทม.) ครั้งที่ 5/2567 ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting โดยมี นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร (ปปส.กทม.) กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) สำนักอนามัย สำนักงานเขต และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม


ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งลงพื้นที่ X-ray ตรวจปัสสาวะในพื้นที่ชุมชน ตามข้อสั่งการเรื่องการแก้ไขปัญหายาเสพติดของนายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 4/2567 ที่จังหวัดนครราชสีมา  ซึ่งให้ทำการปราบปรามยาเสพติด ปฏิบัติการกวาดล้างนักค้ายาเสพติดในพื้นที่แพร่ระบาด ทำการ X-ray ทุกพื้นที่ ระดมกำลังตรวจปัสสาวะกลุ่มเสี่ยงทุกคนที่อายุ 16 ปีขึ้นไป ในทุกหมู่บ้าน/ชุมชน 


ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้สำนักงานเขตประสานกับสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ สำนักงาน ปปส.กทม. และศูนย์บริการสาธารณสุข ดำเนินการตรวจปัสสาวะ และค้นหาผู้เสพยาเสพติดเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (12 ก.ค. 67) เป็นต้นไป ดังนี้


1. ตรวจปัสสาวะบุคคลที่มีอายุ 12 – 65 ปี ทุกราย ที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่ทำโครงการชุมชมเข้มแข็งอย่างยั่งยืน 88 ชุมชน และโครงการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืนในพื้นที่แพร่ระบาด 88 ชุมชน 


2. ตรวจปัสสาวะบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่ทำโครงการชุมชน CBTx กองทุนแม่ของแผ่นดิน 271 ชุมชน และชุมชน CBTx กองทุนแม่ของแผ่นดิน ชุมชนล้อมรักษ์ (เพิ่มเติม) 74 ชุมชน (กลุ่มเสี่ยงหมายถึงบุคคลที่สงสัยว่าใช้ยาเสพติด หรือเคยเข้ารับการบำบัดแต่ไม่ให้ความร่วมมือ หรือเคยเข้ารับการบำบัดอาการจิตเวชจากยาเสพติดแล้วกลับมาอยู่ในชุมชน หรือผู้อยู่ระหว่างคุมประพฤติหรือพ้นโทษจากเรือนจำหรือสถานพินิจฯ)


3. ให้การบำบัดรักษา ฟื้นฟูสภาพทางสังคม โดยกระบวนการ CBTx (Community Based Treatment) หรือส่งต่อสถานพยาบาล4. ตรวจปัสสาวะและรายงานผลจำนวนบุคคลที่ตรวจปัสสาวะและจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดรักษาภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ทางเว็บไซต์สำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด 
5. ตรวจปัสสาวะนักเรียนที่มีความเสี่ยงในโรงเรียน 73 แห่งที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนเฝ้าระวัง และโรงเรียนรายงานทางเว็บไซต์สำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด 


นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รายงานเกี่ยวกับการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ อาทิ การรายงานตามแผนปฏิบัติการเร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะเร่งด่วน 3 เดือน (1 มิ.ย. – 31 ส.ค.67) ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. – 7 ก.ค.67 การประเมินสถานการณ์ปัญหายาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามข้อสั่งการของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ต้นแบบเขตคลองเตย โครงการสื่อสาร สร้างสรรค์ รู้เท่าทันยาบ้า (Smart Say No to Drugs) การฟื้นฟูสภาพทางสังคมด้านอาชีพสำหรับผู้ติดยาเสพติด รายงานการจัดตั้งทีมพิทักษ์จิตเวชและการซ้อมแผนเผชิญเหตุ และการประชาสัมพันธ์และสร้างกระแสการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด.