เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่งาน”20 ปีตากใบ ความหวัง ความท้าทายในวันที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาฟ้องรัฐ ก่อนหมดอายุความ” จัดเสวนา เหตุการณ์ตากใบ 25 ตุลาคม 2547 หนึ่งในโศกนาฏกรรมที่หวนรำลึกกันทุกปีอย่างต่อเนื่องถึงทุกวันนี้ โดยมี พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิประสาทวัฒนธรรม ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประจำประเทศไทย อูเซ็ง ดอเลาะ ศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดนราธิวาส พร้อม แบมะ (นามสมมติ) ตัวแทนชาวบ้านจากตากใบ

พรเพ็ญ กล่าวว่า เหตุการณ์ตากใบเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล นายกทักษิณ ซึ่งเหตุการณ์นี้มีความเกี่ยวพันกับการเมืองอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นที่หน้าสภ.ตากใบ จ.นราธิวาส มีกลุ่มคนไปรวมกันที่จุดดังกล่าวเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ซึ่งคดีดังกล่าวทางกลุ่ม ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านได้อ้างว่า มีการถูกปล้นปืนแต่ รัฐบอกว่าชุดรักษาความปลอดภัยดังกล่าวได้นำปืนไปให้กับกลุ่มผู้ก่อการร้าย สุดท้ายจากน้ำผึ้งเพียงแค่หยดเดียวกลับทำให้เกิดการสลายการชุมนุมอย่างที่เป็นภาพออกมาในปี 2547

“สิ่งที่เราไม่เคยเห็น เราจะได้เห็นอย่างการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เราจะเห็นทุกอย่างนี้ได้จากคดีตากใบเพราะคดีตากใบก็เหมือนกับเหตุการณ์ปราบปรามการชุมนุม ในหลายเหตุการณ์ ที่เราเห็นกันมาตลอดในหน้าประวัติศาสตร์ไทย” พรเพ็ญ กล่าว

ชนาธิป กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เมื่อปีก่อน ทำให้เราเห็นว่า ใน 3 จังหวัดภาคใต้เหมือนเป็นเหรียญสองด้าน ทั้งในเรื่องการที่ชาวบ้านถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยภาครัฐ แต่ไม่มีกรณีไหนเลยที่เจ้าหน้าที่รัฐ จะถูกลงโทษและคนที่ออกมาพูดความจริง ส่วนผู้ที่ต้องการเปิดโปงถึงการละเมิดดังกล่าว มักถูกดำเนินคดีและคุกคามโดยภาครัฐมาโดยตลอด และจากการลงพื้นที่จะทำให้เห็นได้ว่าญาติของเหยื่อแต่ละคนเหมือนได้รับความหวังและกล้าที่จะออกมาพูดต่อสังคมเพื่อตีแผ่เรื่องดังกล่าวมาขึ้น ส่วนการลงพื้นที่ช่วงปีก่อนหน้าผ่านมาเราจะเห็นได้ว่าแต่ละคนเหมือนหมดหวังกับระบบยุติธรรมเพราะแม้จะพูดคุยกันอย่างไรก็ยังช่วยเหลือไม่ได้อยู่ดี

“เหตุการณ์ตากใบเหมือนเป็นโมเดล การสลายการชุมนุมในทุกการเรียกร้องของไทย ทั้งหลายคนยังเปรียบการสลายการชุมนุมตากใบ คือห้องทดลองมนุษย์ที่รัฐได้กระทำต่อผู้เป็นมนุษย์เอง” ชนาธิป กล่าว

อูเซ็ง กล่าวว่า หลังเกิดเหตุการปล้นปืนแม้ปัจจุบันยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าอาวุธดังกล่าว อยู่ที่ไหน แต่ความสูญเสียและความเสียหาย ความรู้สึกของชาวบ้านสิ่งที่ทำได้ในปัจจุบันทำได้แค่รำลึกถึงพี่น้องที่จากไปเพียงเท่านั้น หลังเหตุการณ์ตากใบทำให้พี่น้องเราได้ตื่นรู้ และทำให้เกิดการแจ้งความประสงค์กับสส.ในพื้นที่ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้สูญเสียและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ แม้ต่อมากระบวนการภายหลังฟ้องคดีไปแล้วจะมีคำสั่งจากศาลเพื่อไม่สั่งฟ้อง ตำรวจและทหารที่กระทำความผิด

อูเซ็ง กล่าวอีกว่า โดยศาลวินิจฉัยว่า เป็นการกระทำที่สมควรแก่เหตุ และเป็นเหตุสุดวิสัย ทั้งภายหลังพนักงานสอบสวนยังได้เรียกชาวบ้านมาเพื่อสอบเพิ่มเติมแต่เมื่อไปถึงแล้วกลับไม่ได้เป็นการสอบแต่กลับเป็นการมาเพื่อยืนยันคำให้การเดิม และนำคำให้การที่ได้รับการยืนยันมาแล้วนั้นมาเริ่มสำนวนคดีใหม่ แต่เมื่อวันนัดไต่สวนครั้งแรกมาถึง จำเลยทั้ง 9 กลับเดินทางมาแค่ 3 คนเท่านั้นซึ่งทั้ง 3 คนมีการแต่งตั้งทนายมาเพื่อต่อสู้คดีในครั้งนี้ แต่เมื่อมาถึงศาลในวันดังกล่าวซึ่งจำเลยมาไม่ครบทั้ง 9 คนทำให้การสอบสวนในครั้งนั้นต้องหยุดชะงักลงทันที

“คดีนี้เป็นคดีสำคัญที่เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิประชาชน ทั้งการทำร้ายร่างกาย จิตใจ จึงอยากให้ช่วยกันติดตามในเรื่องความน่าเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรม เพราะครั้งหนึ่งชาวบ้านผู้ถูกกระทำเคยไปร้องขอความเป็นธรรมแต่กลับถูกอัยการซึ่งมีอำนาจในการทำคดีสั่งให้ยุติการร้องขอความเป็นธรรมในขณะนั้น จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันติดตามว่าหลังจากนี้คดีตากใบจะสิ้นสุดที่ตรงไหน” อูเซ็ง กล่าว

บะแม ชาวบ้านที่สูญเสีย กล่าวว่า ตลอดเวลารู้สึกอึดอัดใจหลายอย่างกับเหตุการณ์ตากใบ เพราะเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2547 วันนี้รู้สึกเป็นเกียรติ และต้องการให้สื่อมวลชนช่วยให้เกิดความยุติธรรมกับความรู้สึก ที่ต้องแบกรับตลอดมา 20 ปี ตนขอเล่าย้อนว่า ครั้งวันที่เกิดเหตุการณ์ ตนจำไม่เคยลืม ในวันนั้น พี่ชายและตนออกไปทำนา แต่มีช่วงหนึ่งพี่ชายได้ขอออกไปซื้อเสื้อผ้าที่อำเภอตากใบ ซึ่งหลังจากที่พี่ชายออกไปแล้วนั้น ไม่นานกลับได้รับข่าวร้ายถึงการสูญเสีย ว่าพี่ชายไม่อยู่กับตนแล้ว เหตุการณ์ครั้งนี้พูดกี่ครั้ง เราก็ยังรอคอยความยุติธรรม ทุกครั้งที่พยายามพูดน้ำตาก็มักจะไหลออกมาแม้จะผ่านมา 20 ปีสิ่งที่ทำให้ตนคาใจคือสำนวนคดีทั้ง 85 สำนวนของคน 85 คนที่หายไปอย่างไร้ร่องรอยเรื่องนี้ทำให้รู้ว่ารัฐไทยไม่ได้ตั้งใจทำคดีทั้งสำนวนคดีเหล่านี้กลับโยนไปมาในหลายหน่วยงาน ซึ่งจากการกระทำดังกล่าวทำให้เหล่าชาวบ้านผู้ได้รับการสูญเสียต่างรู้สึกค้างคาใจ ว่าความจริงแล้วทั้ง 85 คนเสียชีวิตได้อย่างไร

“แม้เราจะได้รับการเยียวยาแล้ว แต่หากถามว่าพอหรือไม่กับการสูญเสียก็คงตอบว่าไม่พอเพราะบางท่านเป็นเสาหลักของครอบครัวถึงในวันนี้อายุความของคดีใกล้จะจบลงแล้วจึงได้รวมตัวชาวบ้านผู้ได้รับความสูญเสียเพื่อลุกขึ้นต่อสู้อีกครั้งก่อนคดีนี้จะหมดอายุความ” บะแม กล่าวและว่า สุดท้ายนี้อยากบอกว่า หากจำเลยทั้งหมด ถูกดำเนินคดีเรื่องนี้จะทำให้เห็นได้ว่าการเสียชีวิตของพี่ชายและคนอื่นๆได้รับความยุติธรรม และจะเป็นการ เรียกความเชื่อมั่นกลับมาในกระบวนการยุติธรรมอีกด้วย