เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่กระทรวงแรงงาน นายวีรสุข แก้วบุญปัน ผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ชุดที่ 22 กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการฯ ฝ่ายนายจ้าง เข้ายื่นร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของปลัดกระทรวงแรงงาน เนื่องจากเห็นว่ารายงานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 ครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2567 ไม่ชอบด้วยกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ว่า กรณีกรรมการฝ่ายนายจ้างระบุว่า ที่ประชุมครั้งที่ 5 มีการตัดมาตรา 87 ตามพงร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่กำหนดให้บอร์ดค่าจ้างฯ พิจารณาตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำได้บวกหรือลบ 1.5% ของสูตรคำนวณนั้น ตนยืนยันว่าเป็นข้อเสนอจากฝ่ายลูกจ้าง เพราะที่ผ่านมาอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด พิจารณาตามสูตรเดิม ทำให้การปรับขึ้นค่าจ้างติดอยู่ที่ 1.5% ไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้ตามความเหมาะสม ฝ่ายลูกจ้างจึงเสนอให้ปลดล็อกให้ลอยตัว เพื่อให้อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดพิจารณาค่าจ้างอย่างอิสระ จากนั้นให้นำตัวเลขเข้ามาสู่คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง ซึ่งถือเป็นการกรองชั้นที่ 2 ก่อนที่จะส่งมาที่บอร์ดค่าจ้างฯ เพื่อให้มีการกรองชั้น 3 ซึ่งในกระบวนการต่างๆ นั้นก็จะมีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามความเหมาะสม

“มีการอภิปรายเรื่องนี้ในที่ประชุม จึงมีการโหวตว่าสูตรค่าจ้างควรปลดล็อก 1.5% เป็นที่มาของมติที่ประชุมที่ไม่เป็นเอกฉันท์ ฝ่ายนายจ้างไม่เห็นด้วยก็ไม่โหวต จึงเป็นเสียงข้างมาก 7 ต่อ 5” นายวีรสุข กล่าวและว่า ตนมั่นใจว่าฝ่ายกฎหมายของกระทรวงแรงงานเชื่อถือได้ จึงมั่นใจว่าการโหวตเสียง 7 ต่อ 5 สามารถทำได้และเป็นธรรม ทั้งนี้ กรณีที่นายจ้างไปยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินก็สามารถทำได้ตามสิทธิ ส่วนวันนี้ตนก็ได้ออกมาพูดถึงมติที่ประชุมว่ามีการโหวตเสียงส่วนใหญ่

นายวีรสุข กล่าวต่อว่า ส่วนข้อสังเกตว่ามีการเร่งรัดให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศนั้น ตนยืนยันว่าไม่มีเรื่องนี้ในที่ประชุม เพียงแต่ตนได้เสนอให้มีการปรับไทม์ไลน์การทำงานของอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดให้เร็วขึ้น เพื่อให้การพิจารณาขึ้นค่าจ้างประจำปีเป็นไปตามกำหนดเวลา กว่าจะมีการรวบรวมข้อมูลเสร็จ ก็เกือบสิ้นปีแล้วทำให้การประกาศขึ้นค่าจ้างในปีถัดไปล่าช้า ดังนั้นยืนยันได้ว่าไม่ได้มีการเร่งรัดให้มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แต่อย่างไรก็ตาม หากในปีนี้มีการขึ้นค่าจ้างอีกครั้ง ก็จะต้องเป็นมติจากที่ประชุมบอร์ดค่าจ้างฯ ซึ่งตรงนี้ยังตอบไม่ได้

เมื่อถามว่ามีความกังวลหรือไม่ว่าจะเกิดเป็นความขัดแย้งกันในไตรภาคี นายวีรสุข กล่าวว่า แน่นอนว่าวันนี้ทั้ง 3 ฝ่ายมีความขัดแย้งกัน ดังนั้นความสัมพันธ์ที่ดีก็เริ่มจางหายไป ในขณะเดียวกันบอร์ดค่าจ้างฯ ก็จะต้องรอความเห็นจากผู้ตรวจการแผ่นดินว่าจะต้องทำอย่างไรต่อ โดยเฉพาะการพิจารณาการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งถัดไปว่าจะต้องชะลอออกไปหรือไม่ ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดวันที่ประชุมครั้งที่ 6/2567 ในวันที่ 24 ก.ค. นี้

เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่าเกิดการฮั้วกันระหว่างฝ่ายราชการกระทรวงแรงงานและฝ่ายลูกจ้าง นายวีรสุข กล่าวว่า ถ้าพูดว่าฮั้วคงไม่ใช่ เพราะเราเป็นลูกจ้างเราก็อยากได้ค่าแรงเพิ่ม ฝ่ายรัฐบาลก็อยากเพิ่มให้ เพราะอยากให้ผู้ใช้แรงงาน พออยู่พอกินพอดำรงชีพได้ แต่เราจะไปว่าฝ่ายนายจ้างก็ไม่ได้ เพราะเขาก็ต้องสงวนท่าทีทางเศรษฐกิจ ว่าเขาจ่ายไหวหรือไม่ แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจในทุกวันนี้ไปต่อไม่ได้ สรุปแล้วทุกฝ่ายก็ต้องรักษาผลประโยชน์ของตนเอง

“ฝ่ายลูกจ้างก็อยากได้ ฝ่ายรัฐก็อยากให้เรามีอยู่มีกิน แต่ถามว่าฮั้วหรือไม่ก็คงไม่ใช่ฮั้ว แต่เป็นการพูดคุยกันมากกว่า ดังนั้นคำว่าไตรภาคีหรือแรงงานสัมพันธ์ควรจะไปด้วยกันได้ แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วย แล้วใช้มาตรการที่ทำให้ล่าช้าออกไป อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องมาคิดอีกทีนึงว่าจะเดินไปต่ออย่างไร” นายวีรสุข กล่าว

ถามถึงกรณีที่มีการเปิดเผยว่าปลัดกระทรวงแรงงาน เสนอต่อที่ประชุมให้มีการกำหนดวาระการทำงานของบอร์ดค่าจ้างฯ ใหม่ ไม่เกิน 2 สมัย นายวีรสุข กล่าวว่า คณะกรรมการทุกคนได้มาจากการเลือกตั้ง ผู้สมัครที่เป็นผู้แทนมาจากสภาลูกจ้าง หรือสภานายจ้าง โดยจะมีวาระละ 2 ปี และสามารถมาสมัครใหม่ได้เรื่อยๆ ทำให้หลายคนเป็นบอร์ดค่าจ้างฯ มามากกว่า 10 สมัย ตนจึงได้ปรารภในที่ประชุม ว่า บอร์ดค่าจ้างฯ ควรมีการครองตำแหน่งไม่เกิน 2 สมัย แล้วเว้นวรรคก่อนจะมาเป็นใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดและให้เปิดโอกาสคนอื่นได้มาทำงาน  และอีกข้อเสนอ 1 คือคณะกรรมการในแต่ละชุด เป็นคนเดียวกัน ดังนั้นเมื่อมีการเสนอเรื่องใดขึ้นมาจากคณะกรรมการชุดเล็ก มาถึงคณะกรรมการชุดใหญ่ คนพิจารณาก็จะเป็นคนเดียวกันกับที่เสนอ ตนจึงมีความเห็นว่าควรมีข้อกำหนดว่าคณะกรรมการควรนั่งอยู่เพียงแค่ชุดใดชุดหนึ่ง.