เมื่อวันที่ 11 ก.ค. นายสราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) เปิดเผยว่า ได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยมีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร ประธานบอร์ด รฟท. เป็นผู้รับหนังสือ เพื่อขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ผ่านการคัดเลือกเข้ารับการสัมภาษณ์ และแสดงวิสัยทัศน์ เพื่อคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่า รฟท. เป็นการเร่งด่วน เนื่องจากพบว่า ผู้สมัครที่ผ่านเข้ารับการสัมภาษณ์ และแสดงวิสัยทัศน์ฯ ที่มาจากผู้บริหารของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันว่า กนอ. ในฐานะนิติบุคคล มีสัญญาเช่าที่ดินระหว่างกันกับ รฟท. ทั้งในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และที่บริเวณสถานีมักกะสัน

หากข้อมูลดังกล่าวเป็นความจริง อาจทำให้เข้าข่ายกรณีกรรมการ หรือผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือมีส่วนได้ส่วนเสียในบุคคล ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน ผู้ร่วมทุน หรือมีประโยชนได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐวิสาหกิจได้ ดังนั้นก่อนเข้าสู่กระบวนการในการสัมภาษณ์ และแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่า รฟท. จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่บอร์ด รฟท. ควรสั่งการให้คณะกรรมการสรรหาฯ ซึ่งมีนายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย เป็นประธานกรรมการสรรหาฯ พิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครอีกครั้งอย่างละเอียดรอบคอบ โดยนำข้อมูลต่างๆ มาตรวจสอบให้เกิดความชัดเจน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อกระบวนการสรรหา และเกิดความเสียหายต่อ รฟท. ได้

นายสราวุธ กล่าวต่อว่า ในการสรรหาผู้ว่า รฟท. คนใหม่ ถือเป็นเรื่องดีที่จะได้ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรที่มีอำนาจในการตัดสินใจในการพัฒนาองค์กร ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากแก่ รฟท. ยิ่งในสถานการณ์ที่รัฐบาลกำลังให้ความสำคัญทุ่มงบประมาณในการปฏิรูประบบการขนส่งทางราง และ รฟท. ให้เป็นระบบหลักของการขนส่งของประเทศ โดยเฉพาะในโครงการสำคัญต่างๆ ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ จึงจำเป็นต้องสรรหาบุคคลที่มาทำหน้าที่สูงสุดเป็นผู้นำองค์กร ต้องได้บุคคลที่มีประสบการณ์ มีความรู้จริง จัดเจน เข้าใจในการบริหารงาน บริหารบุคลากร เข้าใจในวัฒนธรรมองค์กรเป็นอย่างดี และสามารถสานต่อการทำงานได้ทันที

ขณะที่งานโครงการต่างๆ ที่กำลังจะแล้วเสร็จ ก็ต้องอาศัยความต่อเนื่อง เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการสานต่อนโยบายตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย และดำเนินงานตามแผนพัฒนาของ รฟท. เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับภาพรวมองค์กร และสถานการณ์เร่งด่วนคือ การก่อสร้างระบบรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง ซึ่งจะเริ่มแล้วเสร็จในปี 68 โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง โครงการรถไฟความเร็วสูง และการปรับปรุงพัฒนาองค์กรในด้านต่างๆ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องการคนที่เข้าใจ และรู้จริงคือ คนภายในเข้ามาเป็นผู้นำสูงสุดของ รฟท. ที่มีความรู้ ความสามารถที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ในการพัฒนากิจการ รฟท. ให้เจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วกันว่าทุกรัฐบาลในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ให้ความสำคัญกับการขนส่งระบบรางทั้งในเมือง และภูมิภาคเพื่องานต่างๆ ตามนโยบายของรัฐบาลให้ความสำคัญสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

นายสราวุธ กล่าวอีกว่า สร.รฟท. มิได้เจตนาที่จะกีดกันบุคคลจากภายนอก เชื่อว่าแต่ละคนมีความรู้ มีความสามารถของตนในแต่ละด้าน แต่ รฟท. เป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่มีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับหน่วยงาน สังคม ชุมชน มากมายทั่วประเทศ หากได้คนนอกเข้ามาเป็นผู้ว่า รฟท. กว่าจะเรียนรู้เข้าใจงานที่มีเทคนิคเฉพาะหลายด้าน ทั้งโครงสร้างพื้นฐานระบบทางและราง ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบล้อเลื่อน การบริการโดยสารและสินค้า การบริหารจัดการที่ดิน ทรัพย์สินที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก กว่าจะเข้าใจงาน เข้าใจคน เข้าใจวัฒนธรรมองค์กรก็ต้องใช้เวลา ซึ่งต้องใช้เวลาในการศึกษาเรียนรู้ ทั้งนี้เป็นหลักการตามเจตนารมณ์ของ สร.รฟท. ที่แสดงจุดยืนมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ของกรรมการการบริหาร สร.รฟท. และกระแสความต้องการของ สร.รฟท.สาขาภูมิภาค ที่ส่งเสียงมายัง สร.รฟท. ที่ต้องการคนที่เติบโตจากภายในของ รฟท. เข้ามาเป็นผู้ว่า รฟท. คนใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้ที่ได้เข้ารับการสัมภาษณ์ และแสดงวิสัยทัศน์ เพื่อคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่า รฟท. จำนวน 2 คน คือ นายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่า รฟท. และนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)