เมื่อวันที่ 11 ก.ค. นายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ให้กำกับดูแลกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศนั้น ในการประชุมเจรจาจัดทำความตกลง KTEPA ครั้งที่ 1 ระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ ที่มีการประชุมไปแล้วเมื่อวันที่ 9–11 กรกฎาคม 2567 โดยไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ และฝ่ายไทยมีอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะเจรจา และมีผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมคณะด้วย และฝ่ายเกาหลีใต้ มีนายคอนกิ โร เป็นหัวหน้าคณะเจรจา

นายสุชาติ ได้กล่าวถึงผลการประชุมความตกลง KTEPA ระหว่างไทยและเกาหลีใต้ ว่า การร่วมกันเจรจาในครั้งนี้จะช่วยยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ โดยคาดว่ามูลค่าการค้าระหว่างกันจะขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งจะมีการลงทุนจากเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นในประเทศไทย ทั้งนี้ จากผลการศึกษาเบื้องต้นของไทย ประเมินว่า ความตกลง KTEPA จะช่วยเปิดตลาดการค้าสินค้าและบริการ และการลงทุนเพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่เดิม ได้แก่ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน–เกาหลีใต้ (AKFTA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)  โดยมีกลุ่มสินค้าที่คาดว่าไทยจะส่งออกไปเกาหลีใต้มากขึ้น อาทิ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และประมง (อาทิ เนื้อไก่แช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป) ผลไม้เมืองร้อน (อาทิ มะม่วง ฝรั่ง และมังคุด) ผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ (อาทิ แป้ง ซอสและของปรุงรส) ผลิตภัณฑ์ไม้ (อาทิ ไม้แปรรูป พาติเคิลบอร์ด ไม้อัดพลายวูด) และเคมีภัณฑ์

และมีสาขาบริการที่คาดว่าไทยจะได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดการค้าบริการของเกาหลีใต้ อาทิ บริการด้านธุรกิจ บริการการขนส่ง คลังสินค้า และบริการด้านโรงแรมและภัตตาคาร โดยคาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 1,282-1,788 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.32-0.44 นอกจากนี้ ยังส่งผลบวกต่อการส่งออกของไทยไปเกาหลีใต้โดยจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 2,420–4,654 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 40.15–77.21

ในการประชุมเจรจาจัดทำความตกลง KTEPA ครั้งที่ 1 นี้ มีประชุมในระดับคณะทำงาน ทั้งหมด 13 คณะ ประกอบด้วย 1) การค้าสินค้า 2) มาตรการเยียวยาทางการค้า 3) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 4) พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 5) มาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 6) อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า 7) การค้าบริการข้ามพรมแดน 8) การลงทุน 9) การค้าดิจิทัล 10) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 11) ทรัพย์สินทางปัญญา 12) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย และ 13) ประเด็นทางกฎหมายและสถาบัน โดยคณะทำงานต่าง ๆ ได้หารือแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องแต่ละฝ่าย และเริ่มเจรจาข้อบทภายใต้ความตกลง KTEPA ในส่วนที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ สองฝ่ายยังได้มีการจัดทำแผนงานการเจรจา โดยเบื้องต้นกำหนดให้มีการเจรจาทั้งหมด 7 รอบและตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2568 ทั้งนี้ เกาหลีใต้จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจาจัดทำความตกลง KTEPA ครั้งที่ 2 ในเดือนกันยายน 2567 ณ กรุงโซล

ในปี 2566 เกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับ 12 ของไทย การค้าระหว่างกันมีมูลค่า 14,736.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปเกาหลีใต้ 6,070.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำตาลทราย แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม และไทยนำเข้าจากเกาหลีใต้ 8,666.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สำหรับในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 (เดือนมกราคม–พฤษภาคม) การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 6,303.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกจากไทย 2,514.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการนำเข้าจากเกาหลีใต้ 3,789.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ