กรณีที่คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ นำโดยกองกิจการอำนวยความยุติธรรม ดำเนินการในคดีพิเศษที่ 9/2567 หรือ กรณีนายปัญญา คงแสนคำ (ลุงเปี๊ยก) ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อรัญประเทศ จำนวน 8 ราย ดำเนินคดีอาญาโดยมิชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ได้มีหนังสือเรียกให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อรัญประเทศ (ผู้ต้องหา) เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหากรณีถูกกล่าวหาว่าบังคับหรือทรมานให้ นายปัญญา หรือ “ลุงเปี๊ยก” รับสารภาพในคดีฆาตกรรม นางบัวผัน ตันสุ หรือป้าบัวผัน ต่อมาวันที่ 9 พ.ค.67 ผู้ต้องหาทั้ง 8 ราย ได้เดินทางมาพบพนักงานสอบสวน และเข้ารับทราบข้อกล่าวหาพร้อมเปิดโอกาสให้ทั้งหมดได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนตามขั้นตอนของกฎหมายนั้น

จวกสื่อปั่นกระแส! ตร.ได้คลิป ‘ป้าบัวผัน’ ก่อนเป็นข่าว ยันไม่รู้ว่าหนึ่งในแก๊งเป็น ‘ลูกตำรวจ’

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ ห้องประชุม 1 อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ นำโดย นายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผอ.กองกิจการอำนวยความยุติธรรม ร่วมกับคณะทำงานตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวน นำโดย นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รอง อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด เดินทางเข้าร่วมประชุมพิจารณาสรุปความเห็นทางคดีพิเศษที่ 9/2567 หรือคดี ลุงเปี๊ยก พร้อมกับตัวแทนของอีก 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และกรมการปกครอง

นายวัชรินทร์ กล่าวเปิดการประชุมสรุปคดีว่า การประชุมในครั้งนี้ได้มีการประชุมร่วมทั้ง 4 หน่วยงาน คือ สำนักงานอัยการสูงสุด กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการปกครอง ตนในฐานะอัยการที่ได้รับมอบหมายจากนายอำนาจ เจตน์เจริญรัตน์ อัยการสูงสุด ให้เข้ามาเป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวน ตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ซึ่งอัยการได้ทำงานกับดีเอสไอมาอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของดีเอสไอนั้น นายอังศุเกติ์ และยังมี ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง เป็นผู้ร่างกฎหมาย พ.ร.บ.อุ้มหายฯ โดยเฉพาะมาตรา 31 ที่บางวรรคระบุว่า “ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นเจ้าพนักงานของรัฐตามกฎหมายประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และอยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดำเนินคดีต่อไปตามพระราชบัญญัตินี้ และแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบ” หมายความว่ากฎหมายฉบับนี้ให้ดีเอสไอหรืออัยการสามารถทำการสอบสวนได้โดยที่ไม่ต้องรอให้ ป.ป.ช. มอบหมาย เนื่องจากในมาตรา 31 ได้กำหนดชัดเจนว่าให้แจ้ง ป.ป.ช. เพื่อทราบเท่านั้น

นายวัชรินทร์ เผยอีกว่า ส่วนที่เห็นว่ามีตำรวจและกรมการปกครองเข้ามาร่วม เนื่องจากว่าเมื่อเป็นเรื่องที่ดีเอสไอสอบสวน หรือเป็นคดีพิเศษ ทางดีเอสไอมีสิทธิเสนอเพื่อความโปร่งใส โดยสามารถให้ทั้งสำนักสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการปกครอง เข้ามาร่วมด้วยได้ อีกทั้งยังเป็นการเข้าร่วมโดยอาศัย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 33 คือ รมว.ยุติธรรม เสนอไปยังนายกรัฐมนตรี และนายกฯ ลงนามคำสั่งแต่งตั้งทีมสอบสวนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการปกครอง มาร่วมด้วยได้ จึงกลายเป็นการทำงานของ 4 หน่วยงาน

ต่อมาเวลา 12.30 น. ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายวัชรินทร์ กล่าวว่า ภายหลังจากที่คณะพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนภายในสิ้นเดือน ก.ค.นี้ จะได้มีก็การสรุปสำนวนพร้อมนำตัวผู้ต้องหาไปส่งฟ้องยังพนักงานอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 2 จ.ระยอง ก่อนที่ชั้นอัยการจะมีการตรวจสอบสำนวนและมีความเห็นสั่งฟ้องไปยังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 จังหวัดระยอง

นายวัชรินทร์ กล่าวว่าส่วนผลการประชุมในวันนี้ คณะพนักงานสอบสวนมีมติความเห็นทางคดีสั่งฟ้องตำรวจ สภ.อรัญประเทศ ทั้ง 8 ราย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพราะไม่มีการแจ้งการจับกุมลุงเปี๊ยกต่อนายอำเภออรัญประเทศ โดยอ้างว่าเป็นเพียงการเชิญตัวมา ทั้งๆที่ในหลักการของการควบคุมตัว จับกุม กักขัง หรือทำให้บุคคลปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้น จะอ้างว่าเป็นการเชิญตัวไม่ได้ ดังนั้น เมื่อไม่มีการแจ้งจึงผิดกฎหมาย ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ประกอบด้วย มาตรา 6 การกระทำย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมโหดร้าย และมาตรา 7 การอุ้มหาย หรือการกระทำที่มีการปกปิดชะตากรรม เพราะตามข้อเท็จจริงแล้ว จะต้องนำตัวลุงเปี๊ยกส่งพนักงานสอบสวนตามกฎหมาย แต่ในกรณีนี้กลับเอาตัวลุงเปี๊ยกไปกักขังไว้ห้องสืบสวน สภ.อรัญประเทศ โดยใช้เวลาทั้งคืน จึงผิดฐานปกปิดชะตากรรม ทั้งนี้ แม้ความเห็นของชั้นสอบสวนจะมีความเห็นสั่งฟ้องทั้ง 8 ผู้ต้องหา แต่หากหน่วยงานอื่นใดเห็นแย้ง ก็สามารถทำความเห็นมาได้ หรือชี้แจงในประเด็นที่ไม่เห็นด้วยกับคณะพนักงานสอบสวนได้

นายวัชรินทร์ กล่าวอีกว่า สำหรับพยานหลักฐานที่ผู้ต้องหาได้นำมายื่นชี้แจงแก้ข้อกล่าวหานั้น คณะพนักงานสอบสวนให้ความเป็นธรรม โดยเราได้มีการลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆและลงพื้นที่ไปสอบพยานในเหตุการณ์ มีการสอบปากคำลุงเปี๊ยกย้อนหลังด้วย เพราะเราจะต้องสอบตามที่ผู้ต้องหาได้ร้องขอความเป็นธรรม มีการอ้างพยานหลายปาก เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนที่สุด อย่างไรก็ตาม ในชั้นการสอบสวนแม้จะมีความเห็นสั่งฟ้องทั้ง 8 ผู้ต้องหา แต่หากสำนวนไปถึงชั้นอัยการ แล้วอัยการมีความเห็นให้สอบสวนเพิ่มเติม หรืออาจมีการสั่งให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหารายอื่นๆเพิ่มเติม หรือมีความเห็นไม่สั่งฟ้องผู้ต้องหาตามชั้นสอบสวนก็เป็นไปได้ถือเป็นดุลยพินิจของอัยการ

สำหรับการต่อสู้ของผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนหรือการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา นายวัชรินทร์ ระบุว่า ต้องยอมรับว่าผู้ต้องหาส่วนใหญ่ให้การปฏิเสธ แต่เป็นการปฏิเสธในรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป บางรายให้การปฏิเสธคล้ายกันแต่บางรายก็ให้การปฏิเสธสวนทางกัน แต่ยืนยันว่าในหลักการทำงานการสอบสวน เราจะไม่นำเอาคำให้การสารภาพใดๆของผู้ต้องหามาเป็นเกณฑ์ แต่เราใช้พยานหลักฐานที่เป็นนิติวิทยาศาสตร์มาเป็นข้อประจักษ์ในการดำเนินคดี ซึ่งพยานหลักฐานที่คณะพนักงานสอบสวนได้ไปรวบรวมแสวงหานั้นจะเป็นทั้งพยานเอกสาร พยานวัตถุ และการสอบปากคำพยานบุคคล โดยเฉพาะกรณีของพยานวัตถุจะเป็นกล้องวงจรปิดบริเวณโดยรอบสถานที่เกิด ทั้งนี้ ในการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เราไม่มีความกังวลเพราะทำตามพยานหลักฐาน ไม่ได้มีการกลั่นแกล้งใคร หากใครมีพยานหลักฐานชัดเจนว่ากระทำความผิดก็ต้องถูกดำเนินคดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในชั้นศาล ผู้ต้องหาที่ถูกสั่งฟ้องในชั้นสอบสวนทั้ง 8 ราย จะต้องถูกศาลมีคำพิพากษา เนื่องจากศาลก็ต้องไปดูพยานหลักฐานทั้งหมดเช่นกัน

นายวัชรินทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับลุงเปี๊ยกปัจจุบันนี้อยู่ระหว่างการดูแลของสถาบันธัญญารักษ์ จังหวัดปทุมธานี โดยรวมมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดีและสุขภาพจิตใจดี ไม่ได้มีภาวะเป็นผู้ติดแอลกอฮอล์ แม้ในอดีตเคยมีพฤติกรรมดื่มเหล้าก็ตาม แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาในเรื่องสุขภาพและยังมีน้ำหนักอ้วนท้วมสมบูรณ์ดี สามารถจดจำได้ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและให้การเป็นประโยชน์ต่อคณะพนักงานสอบสวน

นายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผอ.กองกิจการอำนวยความยุติธรรม กล่าวว่า ภายหลังจากที่คณะพนักงานสอบสวนได้ลงพื้นที่สืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานและได้มีการสอบปากคำพยานบุคคลกว่า 40 ปาก เก็บรวบรวมพยานวัตถุจำพวกกล้องวงจรปิด และได้สอบปากคำบุคคลภายในเหตุการณ์ จึงเป็นเหตุผลให้คณะพนักงานสอบสวนมีมติลงความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 8 ราย

ส่วนอัตราโทษตามมาตรา 6 และมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.อุ้มหายฯ มีดังนี้ ผู้กระทำความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามมาตรา 6 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ , ผู้กระทำความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหายตามมาตรา 7 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท.