เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 11 ก.ค. ที่บริเวณคลองใหญ่ หลังวัดละหารไร่ หมู่ 8 ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ดร.ณมาณิตา กลับบ้านเกาะ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดโครงการกำจัดผักตบชวาในแหล่งน้ำสาธารณะคลองใหญ่ (แม่น้ำระยอง) หลังวัดละหารไร่ พร้อมปล่อยพันธุ์ปลา ประกอบด้วย ปลาตะเพียนขาว ปลาตะเพียนทอง ปลาบ้า ปลาแก้มช้ำ ลงในแหล่งน้ำสาธารณะดังกล่าวด้วย ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อบต.หนองบัว และ อบต.หนองละลอก

โดยมีผู้บริหารระดับสูงหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในส่วนกลาง ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผอ.สวก. นายกัฬชัย เทพวรชัย รอง ผวจ.ระยอง นายประสานต์ พฤกษาชาติ รองนายก อบจ.ระยอง หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใน จ.ระยอง ร่วมเป็นเกียรติ ทั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ และถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อเป็นการพัฒนาฟื้นฟูแหล่งน้ำด้วยการกำจัดผักตบชวาโดยใช้โดรนบินพ่นสารผสมที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ร่วมกับการใช้ทุ่นยางพาราเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของผักตบชวาเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและใช้ประโยชน์จากยางพาราแปรรูป ช่วยทำให้คลองสะอาด เสริมสร้างทัศนียภาพสวยงามและชีวิตที่ดีขึ้นของ ปชช. ในพื้นที่โดยรอบ

ดร.ณมาณิตา กล่าวว่า โครงการดังกล่าว นอกจากจะเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดี เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 แล้ว ยังเป็นการเผยแพร่นวัตกรรมด้านการเกษตรที่ช่วยปรับปรุงและฟื้นฟูแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคและด้านการเกษตรอีกด้วย ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าว สามารถช่วยลดงบประมาณของภาครัฐในการกำจัดวัชพืชจากการใช้เครื่องจักรกลขนาดใหญ่ ทั้งนี้ หลังมีการใช้สารฉีดพ่นกำจัดผักตบชวา และใช้ทุ่นยางพาราควบคุมการแพร่กระจายของตับชวาอย่างต่อเนื่องแล้ว พบว่าได้รับผลตอบรับจากเกษตรกรในท้องถิ่น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ผักตบชวาที่เคยเป็นปัญหาในแหล่งน้ำ ถูกกำจัดไปอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่วันหลังพ่นสาร น้ำกลับมาใสสะอาด

ด้าน ดร.วิชาญ กล่าวว่า การสนับสนุนทุนในการวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมด้านการเกษตร เป็นพันธกิจของ สวก. ที่มุ่งมั่นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อตอบโจทย์การสร้างรายได้และคุณภาพที่ดีของ ปชช. โดยการกำจัดวัชพืชด้วยวิธีที่ทำการวิจัยในครั้งนี้ สวก. เห็นว่าสามารถลดผลกระทบจากปัญหาผักตบชวาที่แพร่ระบาด การใช้เทคโนโลยีนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาเทคนิคการกำจัดวัชพืชในอนาคต ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ในพื้นที่อื่นๆ ที่มีปัญหาเดียวกันได้ อาทิ ช่วยลดความเสียหายจากผักตบชวาต่อสภาพแวดล้อมและการเกษตร อีกทั้งยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำ และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย.