เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 11 ก.ค. 2567 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม ทั้งนี้มีการพิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ถามนายกรัฐมนตรี เรื่องเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ว่า ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มีประชาชนสอบถามเข้ามามากมายว่าเกิดอะไรกันแน่ ซึ่งเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา มติที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต มีการปรับแก้เงื่อนไขมากมาย เปลี่ยนไปมาตลอดเวลา  อาทิ โทรศัพท์มือถือ จากเดิมที่บอกว่าซื้อได้ ล่าสุดบอกว่าซื้อไม่ได้ ปุ๋ย ที่เคยบอกซื้อไม่ได้ วันนี้บอกว่าซื้อได้แล้ว นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขประหลาด เกี่ยวกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ จะใช้ซื้อไม่ได้ แต่ประเด็นสำคัญที่ประชาชนกังวล คือการปรับลดกลุ่มเป้าหมายจากเดิม 50 ล้านคน เหลือ 45 ล้านคน โดยอ้างว่าจะมีคนที่มีสิทธิ แต่ไม่มาลงทะเบียนราว 10 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันยังเสนอทางเลือกใช้เม็ดเงินในโครงการฯ จากงบประมาณปี 2567-68 โดยไม่ใช้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

“คำถามคือขณะนี้งบประมาณมีไม่พอแล้วหรืออย่างไร ถึงหามาได้แค่ 450,000 ล้านบาท งบประมาณในปี 67 จากที่เคยจะใช้จำนวน 170,000 ล้านบาท เหลือเพียงแค่ 165,000 ล้านบาท ที่เหลือจะไปใช้จากงบฯ ปี 68 จำนวน 285,000 ล้านบาท ทำให้ประชาชนสงสัยว่าถ้าสุดท้ายมีการลงทะเบียนเต็ม 50 ล้านคนจะทำอย่างไร ใน 5 ล้านคน เขายังจะได้รับสิทธิอยู่หรือไม่ จะนำเงินที่ไหนมาใช้ หรือจะไปใช้เงินคงคลัง” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

น.ส.ศิริกัญญา ถามต่อว่า สิ่งที่ตนกังวลคือการที่จะต้องใช้งบประมาณปี 67 จากการบริหารจัดการจำนวน 43,000 ล้านบาท และงบประมาณปี 68 จากการบริหารจัดการ จำนวน 132,300 ล้านบาท ตกลงจะมีการใช้งบฯ กลางของปี 67 หรือไม่ จะบริหารจัดการอย่างไร หรือจะมีการใช้เงินทุนสำรองจ่ายที่อยู่ในอำนาจ รมว.คลัง หรือไม่

ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า โครงการฯ ดังกล่าวจะมีการแถลงความชัดเจน ในวันที่ 24 ก.ค.นี้ ส่วนการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ เช่น  ประเภทของสินค้านั้น แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลได้ฟังความเห็นของประชาชน ผู้ประกอบการ และฝ่ายค้าน เพื่อให้โครงการประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรม โดยปรับปรุงแต่งให้โดนใจประชาชนและถูกจุดประสงค์ที่มีเป้าหมายหลัก คือ กระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนงบประมาณที่จะนำมาใช้ คืองบกลาง จำนวน 43,000 ล้านบาท โดยจะพยายามเตรียมงบให้เต็มที่ และพินิจพิเคราะห์ได้อย่างดี เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ซื่อสัตย์ ตามกติกาของการใช้งบที่ถูกต้อง

“โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นนโยบายหลักใช้เงินหมื่นบาท โดยใช้ให้จำกัดพื้นที่เพื่อให้เกิดการพัฒนากระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัด ที่มีการพัฒนาต่ำ เช่น  จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดมหาสารคาม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค” นายเศรษฐา กล่าว

นายกรัฐมนตรี  กล่าวด้วยว่า สำหรับการใช้งบกลางฯ ไม่ใช่กันไว้เพื่อโครงการดังกล่าวเท่านั้น แต่ใช้เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชนด้วย สำหรับประเด็นที่ตั้งคำถามถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้านอื่นๆ หรือไม่นั้น  รัฐบาลมีมาตรการเพื่อพยุงเศรษฐกิจ เช่น การกระตุ้นการท่องเที่ยว ยกเว้นวีซ่า สร้างความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว รวมถึงอุตสาหกรรมรถอีวี เป็นต้น

“มีเงินใหม่เข้ามาในระบบ  470,000 ล้านบาท หรือ 500,000 ล้านบาท ผลิตสินค้ารองรับการซื้อของประชาชนในระบบหรือไม่ เกิดการผลิต การจ้างงาน ประชาชนมีความหวัง นอกจากนั้นแล้วยังต้องแก้ไขปัญหาสังคมที่ผูกโยงกับปัญหาเศรษฐกิจ เช่น ปัญหายาเสพติด ซึ่งผมได้ลงพื้นที่ และพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. ทั้งนี้ กอ.รมน. ไม่เห็นด้วยให้ยุบ เพราะ กอ.รมน. ยังมีบทบาทในมิติความมั่นคง รวมถึงการดูแลประชาชน ดูแลชายแดน” นายกฯ ชี้แจง

นายเศรษฐา ชี้แจงถึงมาตรการช่วยค่าครองชีพของประชาชนว่า ทางแก้ทางหนึ่งคือความร่วมมือด้านความมั่นคงพลังงาน แหล่งพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลบริเวณไหล่ทวีประหว่างไทยและกัมพูชา  หรือโอซีเอ ซึ่งรัฐบาลประกาศจะแก้ไขเท่าที่ฟังตัวเลขจากการประเมินในพื้นที่ทับซ้อนกัมพูชา ถึง 20 ล้านล้านบาท ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างทางพลังงานให้มีใช้ในประเทศไม่ต้องนำเข้า

น.ส.ศิริกัญญา ยังตั้งคำถามด้วยว่า สิ่งที่นายกฯ ไม่ได้ตอบคำถามที่ถาม ยืนยันว่าไม่มีมาตรการพยุงค่าครองชีพประชาชนระยะสั้นเฉพาะหน้า ไม่มีการแก้ปัญหาโรงงานปิดกิจการและเอสเอ็มอีล้ม วินิจฉัยโรคถูก แต่ทางออกมืดแปดด้าน ไม่มีรูปธรรม ไม่ต้องรอดิจิทัลวอลเล็ตหรือรอนักลงทุนแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างไร หากงบประมาณไม่พอใช้ช่วยเหลือเยียวยาค่าครองชีพ ก่อนรอถึงปลายปีนี้ 67 ตนมีข้อเสนอให้รัฐบาลสร้างแรงจูงใจท้องถิ่นนำเงินสะสมท้องถิ่น 2 หมื่นล้านบาท ใช้เพื่อลงทุนขนาดเล็ก เกิดการจ้างงานในพื้นที่ชนบท  ที่ผ่านมานายกฯ เน้นการช่วยเหลือกลุ่มทุนมีมาตรการช่วยเหลือเน้นภาคอสังหาริมทรัพย์ และล่าสุดที่นายกฯ ให้ศึกษาเกี่ยวกับประเด็นทรัพย์อิงสิทธิให้ต่างชาติ 99 ปี ซึ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือด้านอื่นมากกว่าประชาชน

ทำให้นายเศรษฐา ชี้แจงว่า ยืนยันว่ารัฐบาลได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือในกรณีของการศึกษาการให้ต่างชาติเช่าอสังหาริมทรัพย์เป็นเวลา 99 ปี มีการเสนอให้ศึกษาเรื่องดังกล่าว เพราะมีฝ่ายต่างประเทศเรียกร้องให้ปรับจาก 30 ปีเป็น 99 ปี  ดังนั้นต้องศึกษาว่าเหมาะสมหรือไม่ หากทำแล้วจะส่งผลระยะยาวต่อเศรษฐกิจไทย การลงทุนระหว่างประเทศสูงขึ้นหรือไม่

“ไม่ใช่เรื่องขายชาติ แต่ต้องศึกษาและทำให้ซื่อสัตย์ ปลอดจากผลประโยชน์ทับซ้อน รัฐบาลภายใต้การนำของผมวิ่งสู้เพื่ออนาคตและทุกพรรคร่วมวิ่งสู้ต่อไปปัจจุบันที่ดีกว่า สู้กับแรงค้านที่ไร้อนาคต” นายกรัฐมนตรี กล่าว.