เมื่อวันที่ 10 ก.ค.67 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.สถาบันวิจัย วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (พ.ร.บ.วว.) (ฉบับที่…. พ.ศ…… ) ที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ

โดยน.ส.ศุภมาส อิศรภักดี  รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอหลักการคือ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.วว. พ.ศ. 2522 ดังต่อไปนี้ (1) แก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของ วว. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 6) (2) แก้ไขเพิ่มเติม อำนาจหน้าที่กระทำการต่างๆ ภายในขอบเขตวัตถุประสงค์ ของ วว. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 6) (3) ปรับปรุงรายได้ของ วว. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (3) และยกเลิกมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (4)

น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และความสามารถในการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน วว. ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ  มีพันธกิจที่จะนำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไปปฏิบัติ และร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในภาครัฐและเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม สมควรแก้ไขเพิ่มเติมให้ วว. สามารถดำเนินธุรกิจ และนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ในรูปแบบต่างๆ เพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพ.ร.บ.ฉบับนี้

น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า การปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.วว. ถือเป็นอีกหนึ่งการพลิกโฉมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านการพัฒนางานวิจัยของประเทศ เป็นการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย หน่วยงานสามารถนำทรัพย์สิน เครื่องมือ เครื่องจักร ที่ใช้กับกลุ่มชุมชน ไปจนถึงเทคโนโลยีขั้นสูงของประเทศที่รัฐได้ลงทุนจากงานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างต่อเนื่องหลังจากโครงการวิจัยแล้วเสร็จ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกกลุ่มที่รับเทคโนโลยีจาก วว.  อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดการพึ่งพางบประมาณภาครัฐ ตลอดจนนำรายได้ที่ได้จากการร่วมทุนไปลงทุนทำงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและชุมชนได้อย่างทันการ ตามการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและบริบททางสังคมในขณะนั้น โดยไม่ต้องรองบประมาณแผ่นดิน รวมถึงประชาชนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงได้มากขึ้น โดยมีหน่วยงานของรัฐเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดทิศทางของราคาที่เหมาะสม นับเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของกระทรวง อว. ทางกระทรวงพร้อมที่จะรับคำแนะนำ เพื่อนำไปปรับปรุงเพิ่มเติม ในชั้น  คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ ต่อไป

จากนั้นที่ประชุมสภาได้พิจารณารับหลักการร่าง พ.ร.บ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ฉบับที่….. พ.ศ….. จำนวนผู้ลงมติ 413 คน เห็นด้วย 409 คน ไม่เห็นด้วย 0 งดออกเสียง 0 ไม่ลงคะแนนเสียง 4     และตั้ง กมธ.วิสามัญฯ จำนวน 33 คน กำหนดการแปรญัตติ 15 วัน.