เมื่อเวลา 15.40 น. วันที่ 10 ก.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่องการรับรองผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ซึ่งเป็นการพิจารณาต่อเนื่องมาหลายครั้ง ล่าสุดวันนี้เริ่มประชุมตั้งแต่เวลา 09.00 น. โดยนายแสวง กล่าวว่า ตามมาตรา 40 พ.ร.ป.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ด้วยเงื่อนไขตามกฎหมายมาตรา 42 ระบุว่าหาก กกต. เห็นว่า การเลือกเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย กกต. จึงจะประกศรับรองผล ซึ่งจะดู 3 เงื่อนไขในพิจารณาว่ามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. หรือไม่ ซึ่งสำนักงาน กกต. ได้รวบรวมกลุ่มความผิดที่อาจจะนำมาพิจารณาเพื่อใช้เป็นเงื่อนไขในการประกาศผลการเลือก สว. ครั้งนี้คือ 1. คุณสมบัติลักษณะต้องห้าม หมายรวมถึงการสมัครลงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งด้วย 2. กระบวนการในการดำเนินการเลือก ในวันที่ 9 วันที่ 16 และวันที่ 26 มิ.ย. 3. ความไม่สุจริตและเที่ยงธรรม อันเกิดจากการฝ่าฝืนกฎหมายซึ่งสังคมจะใช้กันว่าการจัดตั้ง บล็อกโหวต หรือฮั้ว

กรณีคุณสมบัติและคุณสมบัติต้องห้ามมี 3 เรื่อง คือมีผู้สมัครที่สนใจ มาสมัครช่วงเปิดรับสมัคร 5 วัน 48,117 คน ผอ.ระดับอำเภอได้ ตรวจสอบคุณสมบัติ และไม่รับสมัครไป 1,917 คน เมื่อรับสมัครไปแล้ว ก็ได้ลบชื่อก่อนการเลือกระดับอำเภออีก 526 คน ก่อนผ่านชั้นจังหวัด ก็ได้ลบผู้มีสิทธิเลือกไปอีก 87 คน และผ่านมาระดับประเทศ ผอ.ระดับประเทศ ก็ลดไปอีก 5 คน รวมแล้วมีการตรวจสอบและคัดคนที่ไม่มีคุณสมบัติในลักษณะต้องห้ามออกไป 2,000 เกือบ 3,000 คน กกต. มีมติให้ใบส้มเรื่องคุณสมบัติตามมาตรา 20 วรรค 3 วรรค 4 ระงับสิทธิสมัครชั่วคราว จำนวน 89 ใบ รวมทั้งส่งให้ศาลฎีกาเพื่อพิจารณาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งด้วย อีก 1 คน ตามมาตรา 60 เนื่องจากเข้าได้เข้าสู่กระบวนการเลือกแล้ว จึงเป็นผู้มีส่วนทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ส่วนระดับอำเภอที่ลบไป 500 กว่าคน ไม่ได้ให้ใบส้ม เพราะยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการเลือกระดับอำเภอ แต่ไปพิจารณาว่ารู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิแต่ยังไปสมัครรับเลือก ซึ่งถือเป็นคดีอาญา

นายแสวง กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เรื่องร้องเรียนข้างต้นคิดเป็น 65% หรือราวๆ 600 กว่าเรื่อง จากเรื่องร้องเรียนทั้งหมดที่เข้ามา จนถึงขณะนี้ประมาณ 800 กว่าเรื่อง โดยเป็นทั้งความปรากฏ ผู้สมัครมาร้องเอง และที่ กกต. ลบชื่อออก ดังนั้นเหลืออยู่ราวๆ 200 เรื่อง ที่ต้องพิจารณา   

ส่วนกรณีการสมัครไม่ตรงกลุ่ม ที่ถูกวิจารณ์ว่าคนแบบนี้ไปอยู่กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ได้อย่างไร สังคมอาจจะเข้าใจยังไม่ตรงมาก เพราะเวลาพูดถึงกลุ่มอาชีพ ซึ่งตามมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญ และคำว่ากลุ่มตามมาตรา 11 ของ พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญ ไม่มีกลุ่มอาชีพ แต่เป็น “กลุ่มของด้าน” ทั้ง 20 ด้าน ในแต่ละด้านจะมีอาชีพเป็นส่วนหนึ่งของคนประเภทหนึ่ง มีคน 6 ประเภท ที่สามารถเป็นผู้สมัครได้ ไม่ใช่แค่อาชีพอย่างเดียว 1.คือความรู้ในด้านนั้น 2.ความเชี่ยวชาญในด้านนั้น 3.อาชีพในด้านนั้น 4.ประสบการณ์ด้านนั้น 5.ลักษณะและประโยชน์ร่วมกัน และ 6.ทำงานหรือเคยทำงานร่วมกัน ซึ่งกฎหมายเปิดกว้างให้คนสมัครด้านใดด้านหนึ่งได้ และมีผู้รับรอง 1 คน ซึ่งเคลียร์แล้ว กกต. ตรวจสอบแล้ว

นายแสวง กล่าวต่อว่า ส่วนกลุ่มความผิดที่ 2 คือการดำเนินการในวันเลือก คือวันที่ 9 วันที่ 16 และวันที่ 26 มิ.ย. มีสำนวนมาร้อง 3 สำนวน กกต. พิจารณาเสร็จแล้ว และมีสำนวนที่ไปร้องศาลฎีกา 18 คดี ตามมาตรา 44 ศาลฎีกาได้ยกคำร้องทุกคดีแล้ว และส่วนที่ 3 การเลือกไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ตอนนี้มีอยู่ 47 เรื่อง คือ เรื่องที่สังคมเรียกว่าการจัดตั้ง การฮั้ว การบล็อกโหวต ซึ่งสำนักงาน กกต. ได้รวบรวมพยานหลักฐาน ได้มาพอสมควร ซึ่งลักษณะที่รวบรวมมาพบว่าเป็นขบวนกรที่ต้องกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มายืนยัน สำนักงาน กกต. จึงได้ขอความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รวมแล้ว 23 นาย ซึ่งประสานงานกันตลอดประมาณ 1 สัปดาห์แล้ว โดยขอใช้เทคนิคอุปกรณ์มาตรวจสอบความเชื่อมโยงของผู้สมัคร หรือคนอยู่เบื้องหลัง จะได้ถึงไหนอย่างไร เพื่อนำเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา เรื่องการกระทำที่อาจจะทำให้การเลือกไม่สุจริต

“เมื่อดำเนินการมาถึงขั้นนี้ทั้ง 3 กลุ่มความผิด กระบวนการเลือกตั้ง 3 ระดับจบหมดแล้ว ไม่มีคดีค้างที่ศาล ถือว่าการเลือกเป็นไปโดยชอบ ในส่วนของความไม่สุจริต และเที่ยงธรรม เมื่อมีคำร้อง สำนักงาน กกต. ได้รับเป็นสำนวนเอาไว้แล้ว ขณะนี้ได้รวบรวมพยานหลักฐานข้อมูลไว้แล้ว แต่ข้อมูล ณ วันนี้ยังไม่พอเพียง ที่จะบอกว่าเขากระทำความผิด สำนักงานต้องไปรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม และให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจงตามที่กฎหมายกำหนด ในชั้นนี้จึงไม่สามารถบอกได้ว่าการเลือกเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม และด้วยเหตุผลดังกล่าว กกต. จึงพิจารณาแล้วเห็นว่า การเลือก สว. เป็นไปด้วยความสุจริตเที่ยงธรรม จึงมีมติประกาศผลการเลือก สว. ของแต่ละกลุ่ม ทั้ง 20 กลุ่ม ลำดับที่ 1 ถึง 10 ของแต่ละกลุ่ม เป็น สว. ที่สภา ส่วนลำดับที่ 11-15 ของแต่ละกลุ่มเป็นบัญชีสำรอง ยกเว้นกลุ่มที่ 18 ซึ่ง กกต. ได้ระงับสิทธิชั่วคราว (ใบส้ม) ของผู้ได้รับเลือก 1 คน ซึ่งอยู่ในลำดับ ที่ 1-10 จึงต้องเลื่อนสำรองลำดับที่ 11 ขึ้นมาแทน ทำให้เหลือสำกลุ่มนี้แค่ 4 คน ดังนั้น กกต. รับรองครบ 200 คน และบัญชีสำรอง 99 คน เรียบร้อยเพื่อให้เปิดสภาได้” นายแสวง กล่าวและว่า สว. ทั้ง 200 คน ให้มารับหนังสือรับรองการรับเลือกเป็น สว. เพื่อเป็นหลักฐานในการรายงานตัวกับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาตั้งแต่วันที่ 11-12 ก.ค. เวลา 08.30 น. ถึง 16.30 น. ซึ่งเตรียมสถานที่รองรับเรียบร้อยแล้ว ที่ชั้น 2 สำนักงาน กกต.

ทั้งนี้ นายแสวง ยืนยันว่า การประกาศไปก่อนแล้วมาสอยทีหลัง เป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 226 และ พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง สว. มาตรา 62 ส่วนที่ได้ใบส้มไป 1 คน จนต้องเลื่อนสำรองมาแทน เพราะพบความผิดชัดเจนในเรื่องของคุณสมบัติ

เมื่อถามว่า การที่ กกต. ประกาศบัญชีสำรอง 99 คน จะขัดกับกฎหมายที่ให้ กกต. ต้องประกาศบัญชี สว. 200 คน และบัญชีสำรอง 100 คน หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ก็ทำไปแล้ว ซึ่งตาม พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง สว. มาตรา 42 ไม่ได้เขียนกรณีดังกล่าวไว้ แต่ กกต. มาออกระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือก สว. ฉบับที่ 3 ข้อ 154/1 ให้ กกต. สามารถเลื่อนบัญชีสำรองขึ้นมาแทนได้

เมื่อถามต่อว่า ก่อนหน้านี้ศาลปกครองเคยเพิกถอนบางข้อของระเบียบดังกล่าว กังวลหรือไม่ ว่าจะถูกเพิกถอนอีก นายแสวง กล่าวว่า ตอบไม่ได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงออกมาเช่นนี้ก็ต้องดำเนินการ และทำไปแล้ว หากไม่เลื่อนจะเป็นปัญหามากกว่านี้ เพราะจะเปิดสภาไม่ได้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวสะท้อนว่า กกต. ไม่ได้นิ่งนอนใจ

เมื่อถามต่อว่า ทำไม่ไม่รับรองไปก่อนแล้วค่อยมาสอยทีหลัง จะได้ไม่เกิดปัญหา นายแสวง กล่าวว่า มีคำพิพากษาของศาลฎีกาวินิจฉัยวางแนวเอาไว้แล้ว เมื่อเราพบ ถ้าไม่ทำก็ไม่รู้ว่าจะหลีกเลี่ยงได้อย่างไร วันนี้จะส่งประกาศราชกิจจานุเบกษา

รายงานข่าวแจ้งว่า บุคคลที่ถูก กกต. ระงับสิทธิชั่วคราว หรือแจก “ใบส้ม” คือ น.ส.คอดียะฮ์ ทรงงาม ผู้ได้รับเลือกเป็น สว.อ่างทอง ลำดับที่ 4 กลุ่ม 18 กลุ่มสื่อสารมวลชน โดยระบุในประวัติการทำงานว่า “ประชาสัมพันธ์เสียงตามสายหมู่บ้าน เป็นประชาสัมพันธ์อำเภอไชโย” อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบพบว่า น.ส.คอดียะฮ์ เป็นที่ปรึกษา นายก อบจ.อ่างทอง คือ ศาลฎีกาวางแนวเอาไว้ว่า การเป็นที่ปรึกษานายก อบจ. ถือเป็นผู้บริหารท้องถิ่น จึงถูกระงับสิทธิชั่วคราว ทำให้เลื่อน ว่าที่ พ.ต.กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์ ผู้ได้รับเลือกเป็น สว. ลำดับที่ 11 ซึ่งอยู่ในบัญชีสำรองเลื่อนขึ้นมาอยู่ในบัญชีตัวจริงลำดับ 10 โดย ว่าที่ พ.ต.กรพด อดีตประธานรุ่น 5 หลักสูตร “พัฒนาสัมพันธ์เครือข่ายความมั่นคงระดับผู้บริหาร” (พคบ.) ของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) มาแทน