เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. นายดำรงค์ พิเดช อดีตหัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย และอดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวถึงกรณีการเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ ทับลาน 2.65 แสนไร่ เพื่อเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนว่า หากรัฐบาลยังเดินหน้าเรื่องนี้  โดยเฉพาะแผนที่วันแม็พ ตนจะยื่นถวายฎีกา เพราะไม่ใช่การช่วยเหลือคนอยากคนจน แต่เป็นการปล่อยผีนายทุน คนรวยชัดเจน นอกจากนี้ตนเตรียมจะเข้ายื่นหนังสือและแถลงที่สภาฯ เพื่อขอให้นายกรัฐมนตรียกเลิกมติ ครม.เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566  และยุบทิ้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เสีย เพราะมีไปก็ไม่มีประโยชน์ มีแต่สร้างความขัดแย้ง จะเฉือนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไปให้ปฏิรูปที่ดิน วันนี้มันไม่มีพื้นที่ไหนเหลือจะนำมาจัดเป็น ส.ป.ก.แล้ว นอกจากพื้นที่ป่า  และปัญหาพื้นที่ทับซ้อนก็เป็นเรื่องของ 3 หน่วยงานคือกรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ และ ส.ป.ก. ซึ่งการแก้ปัญหาที่ทำกินของราษฎรยากไร้ที่อยู่ในพื้นที่ป่า วันนี้มีมาตรา 64  พ.ร.บ.อุทยานฯ 2562 แก้ปัญหาให้ราษฎรสามารถทำกินได้  โดยไม่บุกรุกเพิ่มอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมี คทช.อีกต่อไป.

ด้านนายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตเลขาธิการ ส.ป.ก.และอดีตอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ตนเป็นคนดำเนินการให้มีการสำรวจพื้นที่อุทยานฯ ทับลาน ตามแนวปี 2543  ซึ่งเจตนาคือเป็นแนวกันชนไม่ให้มีการบุกรุกเพิ่มเติม ส่วนที่อยู่ในแนวนั้นก็คือเพื่อให้มีการตรวจพิสูจน์สิทธิ์ไม่ใช่ให้กันพื้นที่ออก  ในส่วนของอุทยานฯ เขาใหญ่ทำเป็นแนวถนนเพราะมีงบประมาณเพียงพอ แต่ในส่วนของอุทยานฯ ไม่สามารถทำได้เพราะมีแนวภูเขาเยอะ ตนจึงให้ทำแนวกันชนด้วยการปลูกต้นไม้ และสำรวจเพื่อไม่ให้มีการบุกรุก แนวกันชนหมายความว่าจะล้ำพื้นที่เข้ามาอีกไม่ได้ ในส่วนที่คุณอยู่เราก็จะค่อย ๆ ตรวจพิสูจน์ว่าเป็นการบุกรุกหรือไม่ และต้องดำเนินคดีด้วยซ้ำไป แต่มติ ครม. 14 มี.ค. 66 กลับไปบอกว่ามีการทำแผนที่วันแม็พที่ตามแนวเขตปี 43 ตนก็ไม่รู้ว่าไปทำกันอย่างไร และไปแปลกันเองว่านี่คือเส้นเขตและจะเอาไปกันตั้ง 2 แสนกว่าไร่

นายปลอดประสพ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้เหมือนกับพวกที่ไปสำรวจมันไปเดินกันเอาเองในพื้นที่ที่ตนจะทำเป็นกันชน  ซึ่งถ้าจะทำกันจริงๆ ตามกฎหมายคุณต้องไปเดินสำรวจตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา ซึ่งเป็นกฎหมาย เพราะแผนที่แนบท้ายฯ มาตรามันใหญ่มาก คุณต้องไปเดินและตอกหมุด แต่คุณไปเอาแนวกันชนที่ไม่ได้ตรงกับแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกามาทำ มันก็เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ดังนั้นวันแม็พจึงไม่ใช่กฎหมายมันเป็นการเดินสำรวจและไม่มีกฎหมายรองรับ อุทยานฯ ต้องมีแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีการองรับ เวลาเป็นคดีกันเขาก็เอาแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกามาขึ้นศาล แต่วันแม็พไม่ใช่กฎหมาย เป็นคำสั่งทางปกครองเท่านั้น ไปฟ้องร้องกันก็เสร็จ จึงเป็นเหตุผลว่าวันแม็พพูด สั่ง แล้วไม่มีอธิบดีคนไหนเขาไปใช้แนวเขตนี้ ฟ้องร้องใคร เพราะมันใช้ไม่ได้

เมื่อถามว่ามีข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายปลอดประสพ กล่าวว่า โดยมารยาทตนมีฐานะทางการเมืองทั้งในรัฐสภา และฝ่ายรัฐบาล เราก็ต้องมีมารยาท จึงไม่ควรไปแนะนำท่าน นอกจากท่านถาม  แต่ถ้าในฐานะนายปลอดประสพธรรมดา ตนก็อาจจะพูดสนุกปากไปได้ ถ้าถามตนโดยส่วนตัวว่าถ้าตนเป็นคนทำงานต้องทำอย่างไร ส่วนใครจะฟัง เชื่อหรือไม่เชื่อนั้นเป็นเรื่องของเขา  ถ้าส่วนตัวตนก็จะตอบว่าความคิดที่จะแก้ไขปัญหาอุทยานฯ ทับลานนั้น เป็นเรื่องถูกต้อง โดยคุณต้องแบ่งที่ตามปัญหา และแก้เป็นประเภทๆ ไป คือ  1. ส.ป.ก.ประกาศเมื่อปี 2521 ก่อนประกาศจัดตั้งอุทยานฯ ทับลาน 3 ปี และมีแผนที่แนบท้ายด้วยคือประกาศตามกฎหมาย  เมื่ออุทยานฯ ประกาศครอบเอาไว้ ก็ต้องปล่อยออกไปคืนเขาไป เป็นพื้นที่ประมาณ 5 หมื่นกว่าไร่ ซึ่งตรงกับสิ่งที่ รมว.ทรัพยากรฯ พูด 2. พื้นที่ ส.ป.ก.เหมือนกัน แต่กรมป่าไม้เขาไมได้ให้ ส.ป.ก.เข้ามารุกและนำไปออกเป็น ส.ป.ก. 4-01 ประมาณ 2-3 หมื่นไร่ ต้องไปตรวจสอบและคิดให้ออกว่าต้องทำอย่างไร เพราะไปขโมยออกและมีชาวบ้านเข้ามาอยู่แล้ว 40 กว่าปี รัฐบาลจะทำอย่างไร

3.พื้นที่ทหารจัดให้ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ก็ต้องกลับไปดูของเดิมว่าข้อตกลงเขียนไว้ว่าอย่างไร มีจำนวนกี่คน ให้พื้นที่จุดไหน จำนวนเท่าไร คนพวกนี้ไม่แก่ก็ใกล้ตายหมดแล้ว ส่งต่อให้ลูกหลานหรือไม่ ถ้าใช่ก็ให้เขาไป แต่ถ้าเขาขายไปแล้วจะทำอย่างไร ก็ต้องไปคิดว่าคนที่ซื้อไปจะทำอย่างไรกับเขา เพราะผิดเงื่อนไขแล้ว ไม่ใช่ไปเหมารวม  4.พวกที่เข้ามาบุกรุก 1 แสนกว่าไร่ และมีคดีไปแล้วกว่า 500 คดี จะทำอย่างไร แต่คุณไปบอกว่าพวกนี้อยู่นอกเขตกันชน จะยกพื้นที่ให้ทั้งที่เป็นคดีไปแล้ว คุณจะนิรโทษกรรมแล้วให้เขาหรือ

5. ตามแนวขอบที่เป็นพื้นที่ป่าสงวนฯ แล้วไปดึงเข้ามาประมาณ 1 แสนกว่าไร่นั้น มันมีคนอยู่ เอาเข้ามาผนวก แต่มีคนเข้ามาด้วยจะเอาอย่างไรกับคนพวกนี้ เอาเข้ามาให้เป็นปัญหาอีก และ 6.แปลงสุดท้ายซึ่งไม่มาก เขาอยู่มาจริงก่อนประกาศอุทยานฯ ซึ่งมีไมเท่าไร แต่ตนรับรองว่าไม่แก่ก็ตายหมดแล้ว แต่ถ้าเขาอยู่มาก่อนปี 24 ก็ต้องให้ อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงก่อนเป็นอุทยานฯ มันก็เป็นป่าสงวนและป่าตามพ.ร.บ.ป่าไม้ปี  2484 มาก่อน รวมความแล้วจึงไม่มีใครเป็นเจ้าของมาแต่ต้น เพราะเป็นของหลวงมาแต่ต้น ใครจะมาอยู่ตั้งแต่ปี 2484

“ที่อาจารย์อะไรออกมาพูดว่าเขาอยู่กันมาก่อนประกาศเขตอุทยานฯ เขาเรียกว่าพูดเรื่อยเปื่อย  พูดเอามัน เอาล่ะ ถ้ามันมีก็อนุโลมให้เขาไป แต่ถ้าคนเหล่านี้เขาผ่ามาอยู่ตรงกลางจะทำอย่างไร รัฐก็ต้องให้จัดหาที่ให้เขา ที่ผมพูดก็จะมีอยู่ 6 กลุ่ม คุณก็ไล่ไปสิ ไม่ใช่มาเหมาเข่ง อย่างนี้ เอาออกไป 2.65 แสนไร่ เอาคืนมา 1.2 แสนไร่ เสียไปจริงๆ แค่ 1.4 แสนไร่ พูดเป็นเล่น มันง่ายเกินไป หรือบอกว่าไม่อยากจะให้กรรมสิทธิ์ แต่จะให้ไปอยู่กับ ส.ป.ก.ทั้งหมด ให้เป็นของรัฐ เพื่อไม่ให้มีการซื้อขาย แต่ ส.ป.ก.วันนี้มันซื้อขายกันอยู่ คุณก็รู้ แต่กลับมาอธิบายแบบนี้ ไอ้ที่เป็น ส.ป.ก.ในปัจจุบันมันยังป้องกันไม่ได้เลย ที่ผมพูดทั้งหมดไมได้โกรธ หรือไม่ชอบใคร แต่คือข้อเท็จจริง ดังนั้นมติครม.ต้องทำให้มันปฏิบัติได้ ถูกกฎหมาย ปฏิบัติได้ และถาวร มันจึงจะเป็นการแก้ปัญหาให้ประเทศ ไอ้ที่คุณอธิบายมาอย่างนี้มันไม่ใช่ แล้ววันนี้ผมยังไม่รู้ตัวตนของคนที่เป็นเจ้าของเรื่องนี้ รัฐบาลคุณประยุทธ์ ก็ไม่มี ไปถามคุณประยุทธ์ตอนนี้ ผมว่าท่าน จำไม่ได้แล้ว แล้วมติ ครม.ที่ว่านี้มันประชุมครั้งสุดท้าย ซึ่งมองแล้วมันก็ไม่สวย  ”นายปลอดประสพ กล่าว

เมื่อถามว่ารัฐบาลเพื่อไทยไม่ควรแบกเรื่องนี้ต่อไปหรือไม่ นายปลอดประสพ กล่าวว่า ความหวังดีในการแก้ไขปัญหาควรทำ แต่ต้องทำให้ถูกต้อง ก็ต้องทบทวน มติ ครม.อันนี้ให้มันถูกต้องแม่นยำเท่านั้นเอง ไม่ต้องไปเลิกไปล้างอะไร เพราะไม่เช่นนั้นปัญหามันก็คาราคาซัง แต่ต้องทบทวน แต่ก่อนจะทบทวนต้องถามก่อนว่าใครเป็นเจ้าของเรื่องนี้ของเดิม ที่ประกาศออกมาแล้วทำให้คนทะเลาะกัน เวลานี้เหมือนทะเลาะกับผี ไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของเรื่อง