ภายหลังเปิดปฏิบัติการ “โครงการวิจัยการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4 N ในปลาหมอคางดำ” เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่กระจายปลาหมอคางดำ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำเพชรบุรี นั้น

คืบหน้า เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 10 ก.ค. นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง พร้อมด้วย ว่าที่ ร.ต.ธีระพล โชคนำชัย นายอำเภอบ้านแหลม จ.เพชรบุรี พร้อมชาวบ้าน ลงจับปลาหมอคางดำภายในคลองบางทะลุ ที่กำลังแพร่กระจายอยู่ ซึ่งหลังจับขึ้นมาได้กว่า 250 กิโลกรัม พบว่า เกือบ 200 กิโล เป็นปลาตัวผู้ที่กำลังอมไข่อยู่ตัวละประมาณ 200 ฟอง เจ้าหน้าที่จึงนำส่งให้พัฒนาที่ดินในพื้นที่ นำไปทำปุ๋ยชีวภาพต่อไป

นายบัญชา กล่าวว่า กรมประมง ไม่ได้นิ่งนอนใจในปัญหาดังกล่าว เบื้องต้นได้มีการตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาขึ้นมา 15 ชุด ซึ่งทั้ง 15 ชุด จะมาจากจังหวัดๆ ต่างๆ ที่พบการแพร่กระจาย อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 16 พ.ค. นี้ จะได้เรียนคณะกรรมการมาประชุม เพื่อรีบทราบถึงแนวทางแก้ปัญหาในพื้นที่ ก่อนเสนอ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ ให้รับทราบต่อไป

ทั้งนี้ ตนได้สั่งการให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ แต่ละพื้นที่ทั่วประเทศเร่งสำรวจการแพร่กระจายของปลาดังกล่าว หากพบให้รีบดำเนินการ รวมทั้งสกัดกันไม่ให้มีการแพร่ขยายอาณาเขตเพิ่ม โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด ที่พบว่าเริ่มจะมีการแพร่กระจายแล้ว

“ปลาหมอคางดำในตัวปลาเองไม่ได้มีความอันตรายแต่อย่างใด แต่ที่อันตรายคือผลกระทบต่อระบบนิเวศในธรรมชาติ เนื่องจากปลาชนิดนี้ผสมพันธุ์และออกลูกเร็วมาก ภายใน 1 ปี สามารถออกลูกได้เฉลี่ยตัวละ 10 ครั้ง ครั้งละ 40-500 ตัว ซึ่งถือว่าเยอะมาก ประกอบกับเป็นปลาที่กินอาหารได้มากและหลากหลาย” นายบัญชา กล่าว