สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ว่า กระทรวงการคลังสหรัฐออกแถลงการณ์ เกี่ยวกับการยกหนี้มูลค่า 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,274 ล้านบาท) ให้แก่อินโดนีเซีย ภายในกรอบเวลาช่วง 9 ปี ข้างหน้า แลกกับการฟื้นฟูและอนุรักษ์แนวปะการังในผืนมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุด หลังผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า เป็นวิกฤติสิ่งแวดล้อมระดับโลก 

ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการแลกเปลี่ยนหนี้เพื่อธรรมชาติ ครั้งที่ 4 ซึ่งทั้งสองประเทศดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552 และคาดว่าจะให้ทุนสนับสนุนงานอนุรักษ์เป็นเวลาอย่างน้อย 15 ปี ครอบคลุมพื้นที่หลักสองแห่ง ซึ่งเรียกว่าสามเหลี่ยมปะการัง และบริเวณเกาะซุนดาน้อย

บริเวณดังกล่าว ซึ่งมีอาณาเขตหลายแสนเฮกตาร์ (ราว 625,000 ไร่) เป็นที่อยู่อาศัยของปะการังมากกว่า 3 ใน 4 สายพันธุ์ทั้งหมด รวมไปถึงสัตว์ทะแลอย่าง ปลา, เต่า, ฉลาม, วาฬ และโลมามากกว่า 3,000 ชนิด

ปัจจุบัน อินโดนีเซียมีอาณาเขตแนวปะการังประมาณ 5.1 ล้านเฮกตาร์ (ราว 31 ล้านไร่) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 18 ของพื้นที่ทั้งหมดบนโลก ตามข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยว แต่ปัญหาการฟอกขาวในปี 2567 ส่งผลกระทบร้ายแรงแก่พื้นที่เหล่านี้ “ทั้งสองภูมิภาคนี้เป็นศูนย์กลางของความหลากหลายทางชีวภาพ” นายอเล็กซานเดอร์ พอร์ตนอย ที่ปรึกษากฎหมาย องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติ ผู้มีส่วนร่วมในการจัดทำข้อตกลง กล่าว

อนึ่ง อินโดนีเซียได้รับประโยชน์จากการสลับหนี้กับสหรัฐ ก่อนหน้านี้ในปี 2552, 2554 และ 2557 ซึ่งสร้างรายได้รวมกันเกือบ 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2,546 ล้านบาท) แต่ปีนี้ถือเป็นครั้งแรก ที่การแลกเปลี่ยนหนี้มุ่งเน้นไปที่แนวปะการังมากกว่าป่าฝน เนื่องจากแนวปะการังนั้น ยากต่อการอนุรักษ์ในระดับชาติ และส่วนใหญ่ถูกคุกคามจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสิ่งที่อินโดนีเซียไม่สามารถจัดการได้ด้วยตนเองเพียงประเทศเดียว

อย่างไรก็ดี ข้อตกลงดังกล่าวซึ่งถูกลงนามเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีผลเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ด้วยความหวังว่าจะสร้างความแตกต่าง โดยหนี้ของรัฐบาลจาการ์ตาจำนวน 26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 945 ล้านบาท) จะถูกตัดออกไป ภายใต้กฎหมายป่าเขตร้อนและการอนุรักษ์แนวปะการังของสหรัฐ ส่วนองค์กรอนุรักษ์นานาชาติ จะบริจาคเงิน 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 109 ล้านบาท) และอีก 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 54 ล้านบาท) จะมาจากองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติระดับโลก

หลังจากนี้ อินโดนีเซียจะปฏิรูปนโยบายสิ่งแวดล้อม เน้นไปที่การฟื้นฟูแนวปะการัง ขณะที่องค์กรไม่แสวงผลกำไรในท้องถิ่นจะใช้เงินจากกองทุนอนุรักษ์เพื่อสนับสนุนโครงการ ที่สร้างประโยชน์โดยตรงต่อระบบนิเวศของแนวปะการัง ตลอดจนการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนสำหรับผู้ที่ต้องพึ่งพาแนวปะการังเหล่านั้น “มันค่อนข้างง่าย” พอร์ตนอยกล่าว พร้อมทั้งอธิบายเพิ่มเติม ว่าการแลกเปลี่ยนหนี้เพื่อธรรมชาติได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะ เพื่อทำลายวงจรของความเครียดจากหนี้ ซึ่งเอื้อต่อความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES