เมื่อวันที่ 9 ก.ค. ที่ห้องประชุมราชบพิธชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมรับการตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ ณ พื้นที่ปฏิบัติงาน (Site Visit) ประจำปี 2567 รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 (PMQA 4.0) ของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยได้รับเกียรติจาก รศ.รัชต์วรรณ กาญจนปัญญาคม ประธานผู้ตรวจประเมิน พร้อมด้วย นางสุพรรณี ไพรัชเวทย์ นางอุไรวรรณ โชติกำธร นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ และคณะ ร่วมตรวจประเมิน โดยมี นายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าหน่วยงานระดับสำนัก/กอง ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุม โดยได้รับเมตตาจาก พระพิพัฒน์วชิโรภาส เจ้าอาวาสวัดป่ามหาธีราจารย์ และ รศ.ดร.พรรณี ชีวินศิริวัฒน์ นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมรับฟังผ่านระบบออนไลน์

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตนรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสต้อนรับและรับคำแนะนำของท่าน รศ.รัชต์วรรณ กาญจนปัญญาคม ประธานผู้ตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 ประจำปี 2567 และคณะ เพื่อที่จะทำให้เป้าหมายของทางคณะผู้ตรวจการประเมินได้บรรลุเป้าหมาย คือการทำให้หน่วยงานราชการไทยสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งทุกหน่วยงานภายใต้กระทรวงมหาดไทย เรามีความตั้งใจที่จะเข้าร่วมการแข่งขันรางวัลเลิศรัฐ ภาคสมัครใจในทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 (PMQA 4.0) เพื่อเป็นกรอบและหลักที่ดีในการทำงาน ตลอดจนถึงการพัฒนาระบบราชการ และในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชนได้เกิดผลดีเพิ่มมากยิ่งขึ้น

“กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับ “คน” เพราะเราเชื่อมั่นว่าคนที่มี “Passion” และ “Attitude” ที่ดีนั้น จะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ และความสำเร็จอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัย 7 ภาคีเครือข่าย ซึ่งเราได้ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างเข้มแข็ง และเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการมีส่วนร่วมเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทางผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทยจึงได้ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ร่วมกับองค์การสหประชาชาติ โดยมีคุณกีต้า ซับบระวาล ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ร่วมประกาศเจตนารมณ์ “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน” เพราะว่าสิ่งสำคัญ คือเราไม่ได้ทำเพียงเป้าหมายที่ยั่งยืนเพียง 2 ข้อ ที่รัฐบาลมอบหมายให้ ใน SDGs ข้อที่ 1 การขจัดความยากจน และข้อที่ 11 การพัฒนาเมืองและชุมชน แต่เรายังมุ่งมั่นที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals; SDGs) ทั้ง 17 ข้อ เพื่อให้ครอบคลุมกับการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนแบบครอบคลุมในทุกมิติ” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า กระทรวงมหาดไทยใช้ระบบสารสนเทศเข้ามาช่วยในการขับเคลื่อนการทำงานอย่างเป็นระบบ โดยมีฐานข้อมูลในระบบ MOI War Room ซึ่งครอบคลุมเป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 ข้อ ผนวกรวมกับการแสดงผลในแผนที่แบบ GIS ที่แสดงข้อมูลที่การรายงานผลของภูมิภาคและท้องถิ่น นำไปสู่การพัฒนาเชิงพื้นที่แบบบูรณาการแบบ “One plan” ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาให้เป็นระบบ “One Data” ที่ทุกหน่วยงานมีฐานข้อมูลเดียวกัน สามารถต่อยอดนำไปสู่การพัฒนาแผนในระดับประเทศ อีกทั้งยังมีระบบสำรวจปัญหาครัวเรือน ThaiQM และ TPMap ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ได้ดำเนินการแก้ไขกว่า 3 ล้านครัวเรือน ซึ่งขยายผลจากระบบฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ผ่านระบบสารสนเทศทางศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย

“เรามีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งว่างานที่เราทำ ได้พัฒนาและทุ่มเทในการทำงานเพื่อให้เกิดคุณภาพที่ดีอันมีนัยส่งผลต่อพี่น้องประชาชนและประเทศชาติ ไม่ว่าจะเป็นงานเฉลิมพระเกียรติต่าง ๆ งานบริการประชาชน และงานที่ทำร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอผู้เปรียบเสมือนนายกรัฐมนตรีประจำจังหวัดและอำเภอ เป็นผู้นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ ซึ่งจะนำงานทุกงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนในทุกมิติ ขับเคลื่อนตามหลักการ 3 ระดับ 5 กลไก 7 ภาคีเครือข่าย ซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่กระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำแนวพระราชดำริต่าง ๆ มาขับเคลื่อนสู่ประชาชน ดังที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานแนวพระราชดำริการสร้างความมั่นคงทางอาหาร “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมุ่งมั่นแน่วแน่ในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” ผ้าไทย งานหัตถศิลป์และหัตถกรรมไทย ทั้งยังคำนึงถึงการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรามีความสำเร็จในการดำเนินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ที่เราได้รับพระราชทานเครื่องหมาย Sustainable Fashion ซึ่งพระองค์ท่านทรงมอบหมายให้แนวทางการขับเคลื่อน การเป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งทั้งหมดเป็นเป้าหมายของเราในการสนองพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นเป้าหมายของเราทุกคน ในการทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธานภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า กระทรวงมหาดไทย ต้องการสร้างคนที่มีทัศนคติที่ดี (Attitude) ให้กับข้าราชการในทุกระดับ ในการสรรหา “Recruit” ข้าราชการใหม่ โดยสร้างจิตสำนึกข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทุ่มเททำงานเพื่อประชาชนและชาติ ภายใต้กรอบการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายตามหลักการทรงงาน 4 กระบวนการ ร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์ ซึ่งการพัฒนาคนให้รองรับต่อการเปลี่ยนแปลง เราเปิดกว้างในการรับบุคลากรในหลากหลายสาขา โดยเฉพาะผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางเทคโนโลยี มีการอบรมและสนับสนุนการพัฒนาตามแผน Career Path โดยคำนึงถึงความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และความยั่งยืน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการพัฒนาบุคลากรทุกระดับ อาทิ โครงการจังหวัด อำเภอ ตำบล บำบัดทุกข์บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน เพื่อพัฒนาคนให้คนไปพัฒนาพื้นที่ โดยมี 7 ภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะผู้นำด้านศาสนาที่จะเป็นหลักชัยในการขับเคลื่อนตามหลักการมีส่วนร่วม มีข้าราชการผู้รับผิดชอบประจำตำบล ร่วมกับพระสงฆ์ผู้รับผิดชอบประจำตำบล ที่ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือร่วมกับมหาเถรสมาคม บทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชน ให้มีความสุขอย่างยั่งยืน , โครงการ วัด ประชา รัฐ สร้างสุข และ โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ขยายผลสู่ หมู่บ้านศีลธรรม นอกจากได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนงานร่วมกับภาคี ทั้งหมดเป็นสิ่งยืนยันว่าพวกเรามี “Passion” ในการทำสิ่งที่ดีเพื่อประชาชนและประเทศชาติ และขอขอบคุณคณะผู้ตรวจประเมินฯ และหวังเป็นยิ่งว่าในโอกาสต่อไปเราจะได้รับเกียรติจากท่านมาเยี่ยมกระทรวงมหาดไทยอีกครั้ง วันนี้เราได้รับข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับการทำงานแบบบูรณาการเพื่อพี่น้องประชาชน และจะได้ปรับปรุงและพัฒนาให้เกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืน

รศ.รัชต์วรรณ กาญจนปัญญาคม ประธานผู้ตรวจประเมิน กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีและชื่นชมในผลงานของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งการตรวจประเมิน รางวัลเลิศรัฐ รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 (PMQA 4.0) เพื่อประเมินขีดสมรรถนะสู่การปรับตัวและการแข่งขันในระดับประเทศ โดยมองยุทธศาสตร์ สร้างการแข่งขันให้กับประเทศชาติ โดยรางวัลนี้เป็นรางวัลเพื่อประเมินติดตามความก้าวหน้า ความสามารถทางเทคโนโลยี และการสร้างภาคีเครือข่ายขององค์กร ซึ่งกระทรวงมหาดไทย มีความสามารถในการสร้างภาคีเครือข่ายในระดับสูง ในการขับเคลื่อนภารกิจงานสู่ระดับภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทุกจังหวัดต้องเรียนรู้และนำไปปรับใช้ในการพัฒนาจังหวัด ทั้งนี้ สำหรับผลการประเมินรางวัลนี้มีความก้าวหน้าขึ้นทุกปี และมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ในปี 2567 นี้ มีหน่วยงานสมัครส่งผลงานทั้งสิ้น 197 ผลงาน ผ่านเข้าสู่รอบประเมิน ณ พื้นที่ปฏิบัติงาน (Site Visit) จำนวน 49 ผลงาน