เมื่อวันที่ 9 ก.ค. นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า ได้ประชุมคณะกรรมการกำกับและบริหารจัดการระบบขนส่งทางราง ครั้งที่ 3/67 ร่วมกับหน่วยงานผู้ให้บริการระบบรางที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมได้รับทราบเหตุรถไฟฟ้าขัดข้องประจำเดือน มิ.ย. 67 จำนวน 8 ครั้ง (รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท 2 ครั้ง สายสีทอง 2 ครั้ง Airport Rail Link 3 ครั้ง และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง 1 ครั้ง) เกิดจากระบบเบรกขัดข้อง 3 ครั้ง ระบบขับเคลื่อน 2 ครั้ง จุดสับรางขัดข้อง 2 ครั้ง และระบบอาณัติสัญญาณขัดข้อง 1 ครั้ง พร้อมกันนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันถอดบทเรียนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระบบขนส่งทางรางในเดือน ก.ค. 67 ที่มีผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการ รวมทั้งแนวทางในการปรับปรุงและแก้ไขปัญหา โดยมีประเด็นหารือสำคัญ ดังนี้

1.กรณีเหตุการณ์ประตูรถไฟฟ้าสายสีชมพูเปิดบริเวณสถานีลาดปลาเค้า (PK18) เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 67 เวลา 07.01 น. ซึ่งเจ้าหน้าที่ ขร.ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับเจ้าหน้าที่บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู พบว่า สาเหตุเกิดจากกระเป๋าของผู้โดยสารติดอยู่กับประตูรถไฟฟ้าหมายเลข PM 10 ขณะขบวนรถเคลื่อนที่ออกจากสถานีลาดปลาเค้า มุ่งหน้าศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) เจ้าหน้าที่ประจำรถไฟฟ้าได้ยินเสียงดังผิดปกติ จึงได้กดปุ่มหยุดรถฉุกเฉิน และแจ้งเหตุให้ศูนย์ควบคุมการเดินรถรับทราบเหตุการณ์ โดยบางส่วนของตู้สุดท้ายของขบวนรถยังอยู่ในสถานี ศูนย์ควบคุมการเดินรถจึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ประจำรถไฟฟ้าทำการเปิดประตูเฉพาะบานที่หนีบกระเป๋า โดยการใช้กุญแจประจำขบวนรถ แต่ไม่สามารถไขเพื่อเปิดประตูบานดังกล่าวได้

ศูนย์ควบคุมการเดินรถจึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ประจำขบวนรถไฟฟ้ายกเลิกระบบควบคุมรถอัตโนมัติ และเข้าควบคุมขบวนรถด้วยตนเอง ให้เตรียมพร้อมที่จะขับรถย้อนกลับสู่สถานีลาดปลาเค้า เพื่อทำการเปิดประตูรถและนำกระเป๋าที่ติดอยู่ออก ระหว่างนั้นเกิดความเข้าใจผิดในการสื่อสารกับห้องศูนย์ควบคุมการเดินรถ จึงได้ทำการเปิดประตูรถไฟฟ้าฝั่งชานชาลาที่กระเป๋าติดอยู่ ในระหว่างการแก้ไขศูนย์ควบคุมการเดินรถได้เห็นเหตุการณ์ประตูรถเปิดออกผ่านกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ก่อนที่เจ้าหน้าที่ประจำรถไฟฟ้าจะขับเคลื่อนขบวนรถย้อนเข้าสู่สถานี จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ประจำรถไฟฟ้าปิดประตูรถทันที พร้อมให้นำกระเป๋าที่ติดกับประตูออก โดยประตูได้เปิดประมาณ 50 วินาที และปรับระบบเดินรถเข้าสู่ระบบอัตโนมัติ

หลังจากนั้นขบวนรถไฟฟ้าจึงกลับมาให้บริการได้ตามปกติ โดยเหตุการณ์ดังกล่าว พบว่า ไม่ได้เป็นการขัดข้องของระบบรถไฟฟ้าโมโนเรลแต่อย่างใด เหตุเกิดจากประตูหนีบสายสะพายกระเป๋าของผู้โดยสารขณะปิดประตูรถไฟฟ้า ขั้นตอนการปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาผิดพลาด เนื่องจากมีแรงกดดันต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน โดยระบบรถไฟฟ้าโมโนเรลยังคงปลอดภัยอยู่ ทั้งนี้ ขร. ได้กำชับผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าต้องดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารทราบเหตุฉุกเฉิน ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ภายในสถานีให้ผู้โดยสารทราบตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ประตูจัดเก็บค่าโดยสาร และเน้นย้ำพนักงานประจำบนขบวนรถไฟฟ้าใช้ระบบประชาสัมพันธ์ผู้โดยสาร (PA) บนขบวนรถให้ผู้โดยสารทราบว่าจะเปิดประตูโดยให้ยืนห่างจากบริเวณประตูก่อนที่จะเปิดประตูรถไฟฟ้า

นอกจากนี้ยังให้มีการประชาสัมพันธ์เน้นย้ำให้ผู้โดยสารใช้ความระมัดระวังการนำสัมภาระเข้าสู่ขบวนรถ โดยควรสะพายยกระเป๋า/เป้ไว้ด้านหน้าของตัวเอง และงดใช้โทรศัพท์ขณะเข้า-ออกขบวนรถไฟฟ้า พร้อมทั้งต้องมีการซ้อมแผนเผชิญเหตุในลักษณะดังกล่าว รวมถึงจัดฝึกอบรมและทบทวนการปฏิบัติงานของพนักงานให้เป็นไปตามขั้นตอน (SOPs) อย่างเคร่งครัด และในกรณีฉุกเฉินที่ต้องเปิดประตูรถ ให้ประกาศแจ้งผู้โดยสารให้อยู่ห่างจากบริเวณประตู และดำเนินการด้วยความระมัดระวังก่อนที่จะเปิดประตูขบวนรถไฟฟ้า

ทั้งนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการป้องกันการเกิดเหตุประตูดังกล่าว โดยให้ศูนย์ควบคุมการเดินรถเพิ่มเติมข้อมูลรายละเอียดในการดำเนินการแก้ไขปัญหาแก่พนักงานบนขบวนรถไฟฟ้า และห้ามเปิดประตูในขณะที่ขบวนรถอยู่นอกพื้นที่ชานชาลา พร้อมทั้งปรับปรุงขั้นตอนการปฏิบัติงาน โดยให้มีการขับเคลื่อนรถไฟฟ้ามายังสถานีรถไฟฟ้าครบทั้งขบวนก่อน พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่ประจำสถานีรถไฟฟ้าขึ้นไปตรวจสอบบนชั้นชานชาลา เพื่อตรวจสอบให้แน่ชัดอีกครั้งว่าขบวนรถไฟฟ้าได้อยู่ในพื้นที่ชานชาลาสถานีทั้งหมดแล้ว จึงจะแจ้งให้ศูนย์ควบคุมการเดินรถสั่งการให้พนักงานประจำขบวนรถไฟฟ้าดำเนินการเปิดประตูได้ จากนั้นพนักงานประจำขบวนรถไฟฟ้าจึงจะเปิดประตูได้ ซึ่งจะทำให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

นายพิเชฐ กล่าวด้วยว่า และ 2. การจัดการกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ใกล้สถานีรถไฟฟ้า Airport Rail Link รามคำแหง เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 67 เวลา 05.07 น. ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พิจารณาการให้เอกชนที่เช่าใช้พื้นที่ต้องมีมาตรการป้องกันและระงับอัคคีภัยตามมาตรฐานสากลอย่างเคร่งครัด อาทิ การเว้นระยะห่างสำหรับเป็นทางอพยพให้เพียงพอต่อผู้โดยสาร การตรวจสอบโครงสร้างและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่จะนำมาใช้ในพื้นที่บริเวณสถานีและใกล้เคียงให้มีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล และตรวจสอบระบบไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ การจัดเตรียมให้มีอุปกรณ์ดับเพลิงที่เพียงพอและพร้อมใช้งานได้ตามปกติ รวมทั้งจัดฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและระงับอัคคีภัยเป็นประจำ นอกจากนี้ให้ รฟท. ร่วมกับบริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด ดำเนินการตรวจสอบ และซ่อมบำรุงระบบแจ้งเตือนเพลิงไหม้และอุปกรณ์ดับเพลิงให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานอยู่เสมอ

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะมีบทลงโทษอย่างไรบ้าง นายพิเชฐ กล่าวว่า การลงโทษเอาผิด เป็นอำนาจของ รฟม. ในฐานะคู่สัญญาสัมปทานฯ ที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาสัมปทาน ส่วน ขร. แม้จะเป็นผู้กำกับงานทางด้านราง แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งปัจจุบันได้เสนอร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว เมื่อกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จะส่งผลให้ ขร.มีอำนาจสั่งการ และลงโทษตามกฎหมายหากผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตาม รวมทั้งสามารถกำกับดูแลระบบขนส่งทางรางในทุกๆ ด้านให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนในการเดินทางด้วยระบบราง พร้อมทั้งคุ้มครองให้เกิดการเดินทางที่ปลอดภัย และอัตราค่าโดยสารมีราคาที่เหมาะสมด้วย.