เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 67 ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ สรุปที่มาของกระแส  #Saveทับลาน เพื่อให้เข้าใจกันง่ายๆ ว่า กฎหมายมาตรา 64 ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งทั่วประเทศ ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ วันที่ 29 พ.ค. 2562

ให้อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ สำรวจถือครอง รังวัด ปักแนวขอบเขตให้ราษฎรที่เข้ามายึดถือครอบครองพื้นที่อุทยานก่อนปี 2557 ให้อุทยานแห่งชาติทุกที่ สำรวจการถือครอง (มีการประชุมระดับหมู่บ้าน-ตำบล) ให้ราษฎรเพื่อถือครองทำกินต่อไปได้ (ไม่มีเอกสารสิทธิ-ออกเอกสารสิทธิไม่ได้) โดยไม่ถือว่าเป็นการบุกรุกป่า ยกเว้นนายทุน-คนต่างถิ่นที่เข้ามาบุกรุก

ส่วนราษฎร ถ้าบุกรุกหลังปี 2557 ให้ดำเนินคดีไปกฎหมาย ดังนั้นราษฎรที่อยู่มาก่อนปี 2557 อย่ามาอ้างปัญหาว่าไม่มีที่ดินทำกินอีก!

ต่อมา 28 ก.พ. 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติเห็นชอบผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่ One Map สัดส่วน 1:4000 พื้นที่กลุ่มที่ 3 จำนวน 11 จังหวัด ประกอบด้วย นครราชสีมา บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ สระแก้ว สุรินทร์ อุบลราชธานี เพชรบูรณ์ และเลย (ยกเว้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.ปราจีนบุรี-นครราชสีมา)

แต่ที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.ปราจีนบุรี-นครราชสีมา-สระแก้ว จะไม่เอาแค่การสำรวจเพื่อถือครองทำกินที่ทำกันไปแล้วตั้งแต่ปี 2562 แต่จะกันพื้นที่กว่า 2.65 แสนไร่ ออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ ไปให้ ส.ป.ก. เพื่อออกโฉนดได้ในอนาคต (ดันมูลค่าให้สูงขึ้น-ไปอยู่ในมือนายทุน)

ทำไม? จึงอยากทำเฉพาะที่ “ทับลาน” เพราะทำเลสวย สภาพพื้นที่มีเชพ (เชพบ๊ะ) อากาศดี และการเมืองแรง!! แล้วทำไมจึงไม่ให้อุทยานแห่งชาติอื่นๆ เช่น เกาะเสม็ด-เกาะช้าง-ภูเก็ต-กระบี่-ดอยอินทนนท์ ทำเหมือน “ทับลาน” ได้บ้าง?