รศ. ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการ สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ  บีดีไอ เปิดเผยว่า บีดีไอ ได้พัฒนาโครงการสำคัญ คือ  โครงการแพลตฟอร์มบริการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับพื้นที่เมืองอัจฉริยะ (Envi Link) หรือ เอ็นวี่ ลิงค์ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย เพื่อสนับสนุนการวางแผนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม อากาศสะอาด และลดคาร์บอนฟุตพรินต์ โดยรวบรวมข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 30 องค์กร มากกว่า 80 ชุดข้อมูล ผ่านเว็บไซต์ www.envilink.go.th

“การส่งเสริมและประสานกับทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ เพิ่มประสิทธิภาพ ในการดำเนินงาน มุ่งสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะปัจจุบัน สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ถือว่าเป็นปัญหาที่กระทบต่อชีวิตของประชาชนคนไทยกว่าครึ่งประเทศ แต่กลับพบว่า แหล่งกำเนิดฝุ่นมี ความหลากหลายและซับซ้อน ข้อมูลปัญหา และผลกระทบจากฝุ่นมีแหล่งที่มาที่หลากหลาย อีกทั้งยังอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก การแก้ไขปัญหาฝุ่น พีเอ็ม 2.5 อย่างมีประสิทธิภาพจึงต้องมีการบูรณาการข้อมูลจากหลายภาคส่วน”

รศ. ดร.ธีรณี กล่าวต่อว่า  การจัดระบบบัญชีข้อมูลถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญ ที่จะช่วยให้ได้ข้อมูลประกอบการ วิเคราะห์อย่างครบถ้วนรอบด้าน เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการบริหารจัดการสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเตือนประชาชนเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฝุ่นพิษ  ซึ่งล่าสุดได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “บัญชีข้อมูลเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5” ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการวิจัย “การพัฒนาระบบบัญชีข้อมูล และต้นแบบการบูรณาการและใช้ประโยชน์ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการปัญหาฝุ่น พีเอ็ม 2.5” โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) มีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกว่า 20 หน่วยงานเพื่อร่วมระบุรายการชุดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการปัญหาฝุ่นละออง พีเอ็ม 2.5 ครอบคลุมชุดข้อมูล 4 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านสถานการณ์ฝุ่น 2. ด้านอุตุนิยมวิทยาและสภาพพื้นที่ 3. ด้านการป้องกัน ผลกระทบ และเยียวยา และ4. ด้านการบริหารจัดการเพื่อลดสาเหตุปัญหา

รศ. ดร.ธีรณี อจลากุล

“ผลลัพธ์ที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้จะนำไปปรับใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาจัดทำระบบบัญชีข้อมูล หรือ Data Catalog ที่จะใช้สืบค้นรายการชุดข้อมูลที่ระบุและรวบรวมได้ และจะช่วยให้ผู้ใช้เข้าถึงข้อมูลได้โดยสะดวกตามสิทธิ มีข้อมูลที่ตรงตามมาตรฐาน ลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการรวบรวมข้อมูล และช่วยให้ผู้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อต่อยอดไปสู่การออกนโยบาย กฎหมาย หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล อีกทั้งเพื่อเตรียมพร้อมการสนับสนุนการทำงานตามพันธกิจร่วมตามตัวชี้วัดขับเคลื่อนการบูรณาการร่วมกัน (Joint KPIs) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือสำนักงาน กพร.”

ในงานประชุมครั้งนี้ ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน  และผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม วิทยากรหลักในงานประชุมได้ชี้ให้เห็นว่าปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไม่ใช่แค่ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงต้นตอปัญหาเชิงโครงสร้างของการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งเชื่อว่าบทบาทความสำคัญของ Big Data จะช่วยให้การจัดการปัญหาที่เป็นต้นเหตุของการเกิดฝุ่น PM 2.5 เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การติดตามสถานการณ์ การวางแผนป้องกันและรับมือฝุ่นจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงการทำงานของทุกภาคส่วน นำไปสู่การกำหนดทิศทาง และแนวทางขับเคลื่อนเชิงนโยบาย เพื่อเพิ่มประสิทธิผลของการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองที่ต้นเหตุ และแก้ปัญหามลพิษทางอากาศในระยะยาวอย่างยั่งยืน

ดร.พีรดล สามะศิริ ผู้จัดการโครงการ Envi Link และหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการภายใต้การอนุมัติงบประมาณสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ผ่านการบริหารจัดการทุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จะช่วยแก้ปัญหาความกระจัดกระจายของข้อมูล ช่วยให้หน่วยงานที่ต้องใช้ข้อมูลสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก ตามสิทธิที่หน่วยงานสามารถเข้าถึงได้ และนำไปใช้ตอบโจทย์ความต้องการใช้งานของหน่วยงานในมุมของผู้ใช้ข้อมูลได้อย่างตรงจุดต่อไป