จากกรณีดรามาเดือดไปทั่วทั้งสังคมไทย ภายหลังจากที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดรับฟังความคิดเห็นการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ฝั่ง จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี จำนวน 265,286.58 ไร่ ออกจาการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อนำไปเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จนมีการแห่ติดแฮชแท็ก #Saveทับลาน กว่า 2.47 แสนครั้ง ส่งผลให้แฮชแท็กดังกล่าวขึ้นอันดับ 1 ทวิตเตอร์ อีกทั้งยังมีการรณรงค์ลงชื่อคัดค้าน เพราะหวั่นว่าผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์กว่า 2 แสนไร่ จะหายไปนั้น
-ผ่า6ผลกระทบใหญ่! หากเพิกถอนอุทยานแห่งชาติทับลานกว่า 2.6 แสนไร่

สำหรับ “อุทยานแห่งชาติทับลาน” นั้น เป็นอุทยานแห่งชาติในภาคอีสานและภาคตะวันออก มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอปักธงชัย อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอครบุรี อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี สภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์และมีป่าลานซึ่งหาดูได้ยากที่มีเฉพาะบางท้องที่เท่านั้น มีต้นลานขึ้นตามธรรมชาติ เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำลำธารต่าง ๆ และมีธรรมชาติที่สวยงาม เช่น หุบผา หน้าผา น้ำตก นับว่าเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับสองของประเทศไทย รองจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ได้รับการประกาศให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติโดยยูเนสโก ภายใต้ชื่อ “กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่” อีกทั้งยังได้รับรางวัลอุทยานแห่งชาติสีเขียว (Green National Parks) ระดับทอง (ดีเยี่ยม) ประจำปี 2563 อีกด้วย

ด้วยลักษณะภูมิประเทศซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรป่าไม้ของ “อุทยานแห่งชาติทับลาน” จึงเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์นานาชนิด รวมถึงสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง สัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่าง ช้างป่า กระทิง กวาง เก้ง เสือโคร่ง หมีควาย กระจง แมวดาว แมวป่า กระต่ายป่า และนกชนิดต่าง ๆ เป็นต้น

สภาพป่าปกคลุมไปด้วยป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้งด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด เช่น ไม้เหียง พลวง แดง ประดู่ พยุง ชิงชัน ยางแดง ยางขาว ตะเคียน มะค่าโมง จำปาป่า ตะแบก ฯลฯ และที่สำคัญคือมีต้นลานขึ้นอยู่กระจัดกระจายในป่าดงดิบแล้ง ซึ่งเป็นป่าลานแห่งสุดท้ายของประเทศ

ลักษณะโครงสร้างทางธรณีวิทยาของอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยทั่วไปอยู่ในกลุ่มหินโคราชมีลักษณะ เด่นเป็นชั้นหินตะกอนสีแดง ที่แสดงสภาวะแวดล้อมการสะสมตัวจากกระบวนการทางน้ำบนแผ่นผืนทวีปใน มหายุคมีโซโซอิก เมื่อ 213 – 65 ล้านปี ที่ผ่านมา กลุ่มหินประกอบไปด้วยหมวดหินต่าง ๆ ได้แก่หมวดหินห้วยหินลาด หมวดหินภูกระดึง หมวดหินพระวิหาร หมวดหินเสาขัว หมวดหินภูพาน หมวดหินโคกกรวด และหมวดหินมหาสารคาม

ลุ่มน้ำหลักของอุทยานแห่งชาติทับลาน คือ ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำปราจีนบุรี และอยู่ในลุ่มน้ำสาขา คือ ลุ่มน้ำมูลตอนบน ลุ่มน้ำลำแซะ ลุ่มน้ำลำปลายมาศ และลุ่มน้ำแม่น้ำหนุมาน

ปัจจุบันผืนป่าพื้นที่ทับลานถูกผู้คนเข้าไปบุกรุกทำลายจนเหลือเพียงป่าลานแห่งสุดท้าย บริเวณบ้านทับลาน บ้านขุนศรี บ้านบุพราหมณ์และบ้านวังมืด จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งถือเป็นไฮไลต์ของอุทยานแห่งชาติทับลาน ภายในอุทยานมีป่าลานเป็นป่าผลัดใบที่มีสภาพเป็นป่าโปร่งมีต้นลานขึ้นอย่างหนาแน่นทั่วพื้นที่

สำหรับ “ไม้ลาน” เป็นพืชในตระกูลปาล์ม (Palmae) บริเวณป่าลานและป่ารุ่นยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่สามารถปรับตัวอยู่ในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้แก่ กระรอก หนู กระต่ายป่า พังพอน เก้ง กวางป่า เหยี่ยวขาว นกคุ่มอกลาย กิ้งก่าหัวแดง ตุ๊กแกบ้าน กิ้งก่าหางยาว อึ่งอ่างบ้าน และคางคก เป็นต้น

ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติทับลาน เปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป ผ่านช่องทาง https://docs.google.com/…/1FAIpQLSdOxZiTKKlqQF…/viewform