ความคืบหน้าปัญหาผลกระทบจากการแพร่ระบาด “ปลาหมอคางดำ” ในกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลากระพง ในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ผู้สื่อข่าวติดต่อสัมภาษณ์ นายนิพัตร์ อมศิริ อายุ 61 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสลิดมากว่า 30 ปี บนเนื้อที่ 20 ไร่ หมู่ 6 ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า ก่อนหน้าที่ปลาหมอคางดำระบาด เกษตรกร ต.แพรกหนามแดง ทั้ง 6 หมู่บ้าน เลี้ยงปลาสลิดเป็นอาชีพได้กำไรดีมาก เป็นการเลี้ยงแบบธรรมชาติ 100% โดยปลาสลิดก็ได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติแล้วนำพ่อแม่มาเพาะพันธุ์ไม่ต้องเสียเงินซื้อ ต้นทุนจึงน้อย อีกปลาสลิดเป็นปลาน้ำจืด แม้คุณภาพน้ำต่ำก็อยู่ได้ อีกทั้งกินอาหารคือเศษหญ้าก้นบ่อและให้อาหารเสริมเพื่อให้ปลาโตเร็ว

นับหมื่นตัว! ‘พ่อเมืองเพชรบุรี’ เร่งล่า ‘ปลาหมอคางดำ’ หลังระบาดหนัก 8 อำเภอ

นายนิพัตร์ กล่าวต่อว่า สมัยก่อนเลี้ยงปลาสลิดใช้เวลา 10 เดือนเปิดบ่อครั้งหนึ่ง ได้ปลาประมาณ 20 ตัน เพราะอัตราการรอดของปลาสูง 70 ถึง 80% ส่วนอีก 20% ปลาจะถูกนก งู และตัวเงินตัวทองจับไปกินบ้าง แต่เกษตรกรก็ยังพอมีเงินเหลืออยู่ได้สบาย แต่เมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา การเลี้ยงปลาสลิดเริ่มได้รับผลกระทบจาก “ปลาหมอคางดำ” เป็นอย่างมาก ตนขาดทุนมาแล้ว 4-5 ปี ล่าสุดปล่อยลูกปลาสลิดไป 2แสนตัว ให้อาหารวันละ 10 ลูก 1 ลูกน้ำหนัก 20 กก. (ราคาอาหารปลาสลิดอยู่ที่ลูกละ 700 บาท) ให้อาหาร 2 มื้อ เช้า-เย็นเพราะต้องการปลาขนาด 5-6 ตัวต่อ 1 กก. ใช้เวลาเลี้ยง 10 เดือน หมดเงินค่าอาหารปลาเป็นเงินล้านกว่าบาท

“พอถึงวันเปิดบ่อจับปลาสลิด เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา คาดหวังว่าจะได้ปลาสลิดขายประมาณ 20 ตัน แต่ได้เพียง 10 กว่าตัน มีปลาหมอคางดำ หลายร้อยกิโลกรัม ขายชาวบ้านทำปลาแดดเดียวได้แค่ กก.ละ 5-6 บาท สาเหตุที่เหลือปลาสลิดแค่ครึ่งเดียวจากที่เคยจับได้ ไข่ปลาหมอคางดำน่าจะเล็ดลอดเข้ามาตอนผันน้ำเข้าบ่อ ใช้อวนพลาสติกตาถี่เบอร์ 16 กรองน้ำ แม้กินปลาสลิดตัวใหญ่กว่าไม่ได้ แต่ก็มาแย่งอาหารกิน จนท้อแล้ว ขอพอแค่นี้ ทิ้งบ่อร้างเพราะทำไปก็ไม่คุ้ม ตราบใดที่ปลาหมอคางดำยังระบาดอยู่ และทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น คนเลี้ยงปลาสลิดที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน คงจะเลิกเลี้ยงแล้วทิ้งบ่อปล่อยร้างอีกหลายราย”

นายปัญญา โตกทอง เครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน และเครือข่ายประชาคมคนรักแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า ได้เข้าร่วมในที่ประชุมคณะ กมธ.การอุดมศึกษาฯ เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา ในฐานะกรรมการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำระดับชาติ โดย นายวาโย อัศวรุ่งเรือง ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย ตนอยากฝากรัฐมนตรีและผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ให้ช่วยลงพื้นที่ดูแลเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และแก้ปัญหาใกล้ชิดด้วย ทั้งที่ชาวบ้านเดือดร้อนกันมานาน จากการละเลย จนทำให้นำเข้าสัตว์น้ำสายพันธุ์เอเลี่ยนสปีชีส์อย่างเช่นปลาหมอคางดำ เล็ดลอดลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ทำให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเดือดร้อนในหลายพื้นที่ จนแพร่ระบาดไปถึงภาคใต้แล้ว