จากกรณีการรายงานข่าวเกี่ยวกับประเด็นการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานฝั่ง จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี โดยจะต้องเฉือนพื้นที่ป่าไปกว่า 265,286.58 ไร่ เพื่อปรับแนวเขตแก้ปัญหาให้ชาวบ้านมีพื้นที่ทำกิน แต่ปรากฏว่าสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์หวั่นใจว่าพื้นที่ดังกล่าวอาจจะหลุดไปยังมือนายทุนรายใหญ่ และทำร้ายระบบนิเวศของสัตว์ป่า

อย่างไรก็ตาม ด้าน “กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” ยังออกมาเปิดรับฟังความเห็นในการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน โดยสามารถลงความเห็นได้ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน-12 กรกฎาคม 2567 (คลิก : เพื่อลงความเห็น)

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ก.ค. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ว่า กรมอุทยานฯ ทำทั้งหมดไปตามขั้นตอนที่มติ ครม.กำหนด หากได้ข้อยุติการรับฟังความเห็น ทางสำนักอุทยานแห่งชาติก็จะรวบรวมข้อมูล เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติเพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป โดยคาดว่าจะจัดประชุมคณะกรรมการอุทยานฯ ได้ใน 1-2 เดือนหลังจากนี้

“เบื้องต้นส่วนการรับฟังความเห็นในพื้นที่ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 4-5 ก.ค.ที่ผ่านมา ส่วนการรับฟังความเห็นผ่านเว็บไซต์กรมอุทยานฯ จะสิ้นสุดในวันที่ 12 ก.ค.นี้ ล่าสุดวันนี้ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่ามีผู้แสดงความเห็นผ่านเว็บไซต์ของกรมอุทยานฯ แล้ว 6-7 หมื่นคน คาดว่าเมื่อสิ้นสุดการเปิดรับฟังความเห็นน่าจะมีผู้แสดงความเห็นถึงหลักแสนคน” นายอรรถพลกล่าว

เมื่อถามถึงกรณีวันนี้กระแสโซเชียลมีความตื่นตัวในประเด็นนี้อย่างมากและมีการขึ้น #saveทับลาน ไม่เห็นด้วยกับการเพิกถอนพื้นที่ป่าอุทยานฯ ทับลาน 265,000 ไร่นั้น นายอรรถพล กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องดีที่ประชาชนตื่นตัวและให้ความสนใจในเรื่องนี้ ส่วนความเห็นที่ประชาชนระบุว่าไม่เห็นด้วยกับการเพิกถอนอุทยานฯ ทับลานจะถูกนำไปประกอบการพิจารณาอย่างไรนั้น ก็ต้องนำเสนอภาพรวมให้คณะกรรมการอุทยานฯ รับทราบและรับฟังว่าประชาชนมีความคิดเห็นอย่างไร ต่อข้อถามว่าความเห็นของประชาชนจะมีน้ำหนักในการพิจารณาหรือไม่ นายอรรถพล กล่าวว่า ก็คงนำไปสู่การหาทางเลือกที่ดีที่สุดของคณะกรรมการอุทยานฯ ต่อไป

เมื่อถามว่าทำไมเรื่องนี้ถึงกลายเป็นประเด็นใหญ่จนติดอันดับแพลตฟอร์ม X นายอรรถพล กล่าวว่า จะว่าอย่างไรกันก็ตาม กรมอุทยานฯ ก็รับความคิดเห็นนั้นมาพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการอุทยานฯ ก็จะทำหน้าที่พิจารณาอยู่แล้ว แต่ก็ดีใจที่คนไทยมีความกระตือรือร้นในเรื่องนี้ คิดว่าอะไรที่เป็นความถูกต้อง เหมาะสมคนจะเลือกเอาสิ่งนั้น

ด้านแหล่งข่าวจากอุทยานแห่งชาติทับลาน กล่าวว่า เดิมทีมีแนวคิดที่จะเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน 58,000 ไร่ บริเวณ ป่าวังน้ำเขียว ให้กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) โดยใช้แผนที่ (one map) มาตราส่วน 1 ต่อ 4,000 ซึ่งในตอนนั้นสามารถเข้าใจ และยอมรับได้ เพราะในพื้นที่ 58,000 ไร่นั้น มีการทับซ้อนของที่ประชาชน และ ทาง ส.ป.ก.เองก็แสดงความต้องการมาตรง ๆ อยู่แล้ว

“แต่ต่อมากลับไม่เป็นแบบนั้น คือ มีการมาทุบเอาเลยว่า จะต้องเอาที่ 265,000 ไร่ จากพื้นที่อุทยานทับลานทั้งหมด 1.4 ล้านไร่ คือ รวบหมดทุกที่ ทั้งที่เป็นโซนป่า โซนที่ทับซ้อน และโซนที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี” แหล่งข่าวกล่าว

เมื่อถามว่า ที่มาของตัวเลข 265,000 ไร่ นั้นมาจากไหน แหล่งข่าว กล่าวว่า เป็นไปตามมติ ครม. 14 มี.ค. 2566 ที่อ้างว่า เห็นชอบตามมติ คทช. จากการสำรวจปี 2543 โดยแผนที่ (one map) ซึ่งเป็นการอ้างที่ขาดหลักการอย่างแรงเพราะ (one map) ที่สำรวจ ปี 2543 นั้น เป็นเส้นแผนที่ที่ทำเอาไว้ไม่ให้คนบุกรุกเพิ่มเติม

ขณะที่นายภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานนั้น มีปัญหาภายในพื้นที่นั้นมีมากมาย ซึ่งส่วนมากเกี่ยวข้องกับการประกาศพื้นที่ซ้อนทับกับเขตบริหารเดิม ที่มีจุดประสงค์ในการใช้ที่ดินอีกแบบหนึ่ง อีกทั้งแต่ละหน่วยงานในพื้นที่ต่างก็ดำเนินกิจกรรมตามกฎหมายของตนเอง จึงเกิดปัญหาคาราคาซังระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน เช่น แนวเขตป่าไม้ของอุทยานฯ ซ้อนทับกับ ส.ป.ก. การเกิดโครงการที่มีพื้นที่เกี่ยวข้องกับเขตอุทยานฯ อย่างโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) หรือ โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง (พมพ.) โดยส่วนสำคัญที่ทำให้ปัญหานี้ดำเนินมาถึงปัจจุบันคือการรับผิดชอบพื้นที่นอกเหนืออาณาเขตหน่วยงานอย่างผิดกฎหมายในพื้นที่ อีกทั้งยังมีการดำเนินคดีหลายครั้งกับผู้ถือครองที่ดินอย่างผิดกฎหมาย

ประธานมูลนิธิสืบฯ กล่าวว่า การประชุมของคณะกรรมการอุทยานฯ ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา มีการพิจารณา วาระ เรื่องเพื่อทราบ การปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งถือเป็นการข้ามขั้นตอนการให้ข้อเสนอแนะอย่างละเอียดรอบคอบของคณะกรรมการอุทยานฯ โดยประเด็นการเพิกถอนพื้นที่ดังกล่าวได้มีการนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานฯ มาแล้ว 2 ครั้ง โดยที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะให้มีการใช้แนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ ตามมาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562

“ที่ประชุมดังกล่าวได้มีการนำเสนอข้อมูล มติ ครม. เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 ที่ได้เห็นชอบข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เรื่องผลการดำเนินการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐ และปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ (One map) ที่ให้ดำเนินการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขต ปี พ.ศ. 2543 พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี ซึ่งจะเป็นการเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ ทับลานถึง 265,286.58 ไร่” นายภานุเดช กล่าว

นายภานุเดช กล่าวว่า โดยปกติแล้ว การประกาศพื้นที่ ส.ป.ก.ได้นั้นจะต้องมาจากกฤษฎีกา และจะต้องเป็นพื้นที่ที่มีสภาพเสื่อมโทรมชัดเจน ตัวอย่างเช่น พื้นที่ป่าสงวนฯ ที่เกิดความเสื่อมโทรม ทางกรมป่าไม้ก็ต้องทำเรื่องยกพื้นที่นี้ให้กับ ส.ป.ก. นำไปจัดสรรต่อ ภายใต้กติกาที่กำหนดร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแบ่งสัดส่วนชัดเจนกับพื้นที่ที่คงสภาพเป็นป่าชัดเจน ในปัจจุบันยังไม่มีพื้นที่ส.ป.ก.ส่วนไหนเลยส่งคืนให้กรมป่าไม้ในสภาพที่เป็นป่าเลยแม้แต่พื้นที่เดียว แต่กลับพบการออกที่ดินโดย ส.ป.ก.อย่างมิชอบ

“ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงสถานะของพื้นที่จากพื้นที่อุทยานฯ ให้กลายเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. ภายใต้การดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ขัดต่อการดำเนินงานของคณะติดตามการแก้ปัญหาเรื่องของชุมชนในพื้นที่ป่า หากเราดูตามพื้นที่เดิมของอุทยานฯ ทับลานซึ่งเป็นป่าไม้ถาวรตามมติ ครม. 2506 ซึ่งถูกสงวนไว้สำหรับเรื่องของการคุ้มครองพื้นที่ป่า อีกทั้งภาพถ่ายทางอากาศแทบจะไม่พบเรื่องของการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เลย ยกเว้นส่วนพื้นที่ของวังน้ำเขียว ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตอุทยานอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าหากพื้นที่ดังกล่าวถูกประกาศเป็นป่าไม้ถาวรแล้วการจะดำเนินการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงสภาพใดก็ตาม จำเป็นต้องดำเนินการผ่าน ครม. โดยจะต้องออกมาเป็นมติในเรื่องของการเพิ่มพื้นที่ และต้องมีกรมป่าไม้เข้ามาเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการในส่วนนี้” ประธานมูลนิธิสืบ กล่าว

นายภานุเดช กล่าวว่า ประชาชนที่ได้รับผลกระทบในเรื่องของที่ดินเราสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ กลุ่มคนที่อยู่มาก่อนการประกาศเขตอุทยานซึ่งพวกเขาควรมีสิทธิตามกระบวนการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ต่อมาคือกลุ่มคนที่ได้เอกสารสิทธิที่ดินไปแล้วอยู่ระหว่างการดำเนินการประกาศเขต โดยบางคนได้มีการขยายหรือจับจอง เปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินพื้นที่เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่มีการตกลงกันไว้ และสุดท้ายคือกลุ่มคนที่เข้ามาครอบครองอย่างผิดกฎหมาย เช่น กลุ่มทุนที่เข้ามาพัฒนาที่ดินให้กลายเป็นธุรกิจก็ต้องถูกนำพาออกไปจากพื้นที่นั้น

นายภานุเดช กล่าวต่อว่า ในส่วนของแนวทางการแก้ไขปัญหานั้นโดยส่วนมากการกระทำอันใดที่เป็นการลดพื้นที่ป่านั้นก็ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 65 และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่กำหนดให้มีการเพิ่มพื้นที่ป่าในช่วงปี พ.ศ. 2566-2570 ร้อยละ 33 และในห้วงปี 2576-2580 ต้องเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 35 ของพื้นที่ประเทศและขัดต่อนโยบายป่าไม้แห่งชาติที่กำหนดให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ หากเราไม่พิจารณาพื้นที่ให้ละเอียดถี่ถ้วนในการเพิกถอน ก็อาจจะเสียบรรทัดฐานในการแก้ไขปัญหาระดับประเทศในลักษณะที่จะเพิกถอนพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป อาจจะเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนรายย่อย….