ที่ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 67 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวเปิดตัวการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคน จากการบังคับให้หายสาบสูญ ภายใต้ชื่อ “ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีอนุสัญญาอุ้มหาย : หนทางสู่การขจัดการอุ้มหาย” โดยมีนายเดวิด เดลี เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย พร้อมด้วยผู้แทนระดับภูมิภาค สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักวิชาการ สมาชิกคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการหายสาบสูญโดยถูก บังคับ หรือไม่สมัครใจ เข้าร่วมงานดังกล่าว

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า รู้สึกยินดีและขอขอบคุณสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย และสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่ได้ร่วมกันจัดงานเปิดตัวการเข้าเป็นภาคี อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ “ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีอนุสัญญาอุ้มหาย : หนทางสู่การขจัดการอุ้มหาย” และขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม สถานทูต และองค์การ ระหว่างประเทศ ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานเพื่อยกระดับการดำเนินการของไทยในเรื่อง การป้องกันและปราบปรามการอุ้มหายจนมาถึงทุกวันนี้

หลังจากเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 67 ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ หรือเรียกสั้นๆ ว่า อนุสัญญาอุ้มหาย ภายหลังจากที่ได้ลงนามรับรองอนุสัญญาฯ มาตั้งแต่ปี 55 เนื่องจากประเทศไทยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. 66 ส่งผลให้ อนุสัญญาอุ้มหาย มีผลใช้บังคับกับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย. 67 เป็นต้นมา

หลักการที่ว่า “การป้องกันอาชญากรรมย่อมดีกว่าการลงโทษอาชญากร” หรือคติพจน์ ที่ว่า “กันไว้ดีกว่าแก้” ซึ่งคติพจน์นี้เป็นเป้าประสงค์สุดยอดของฝ่ายนิติบัญญัติที่ต้องจำแนก ระหว่างสิ่งดีกับสิ่งเลวร้ายในชีวิต เป็นการใช้ศิลปะในการนำปวงชนไปสู่ประโยน์สูงสุด เท่าที่จะทำได้และมุ่งหลีกเลี่ยงทุกขเวทนาให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ การประการใช้พระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง เพื่อไม่ให้เกิดการทรมาน การกระทำ การที่โหดร้าย และการกระทำให้บุคคลสูญหาย รวมทั้งนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ

พระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ ได้นำหลักการตามอนุสัญญาฯ มาบัญญัติไว้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดฐานความผิดและระวางโทษแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำให้บุคคล สูญหาย การกำหนดมาตรการป้องกันโดยการบันทึกภาพและเสียง การจัดทำบันทึกข้อมูล ผู้ควบคุมตัว การประกันสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลผู้ถูกควบคุมตัว และสิทธิในการได้รับ การช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายและครอบครัว รวมถึงสิทธิที่จะได้รู้ความจริงโดยการกำหนดให้ มีการสืบสวนจนกว่าจะพบบุคคลซึ่งถูกกระทำให้สูญหาย ทราบพฤติการณ์การกระทำความผิด และรู้ตัวผู้กระทำความผิดด้วย เพื่อให้การคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการอุ้มหายเป็นไปอย่างมี ประสิทธิภาพและสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ