กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) ร่วมกับ มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) สถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นและเป็นกลุ่มสถาบันการเงินชั้นนำอันดับ 7 ของโลก เร่งเครื่องเดินหน้า ‘Transition Finance’ อีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ Mr. Colin Chen, MUFG’s Head of ESG Finance for Asia Pacific ได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์บนเวที Net Zero World ที่งาน Krungsri-MUFG ESG Symposium 2024 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม MUFG’s Net Zero World หรือ MUFG NoW ที่จัดขึ้นในหลายประเทศ เพื่อจุดประกายพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วนและเร่งดำเนินการสู่เป้าหมาย Net Zero ในระดับโลก โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วมากที่สุดในโลก

Mr. Chen ได้กล่าวถึงจุดยืนที่ชัดเจนของ MUFG ในการจัดการกับความท้าทายที่กำลังเป็นประเด็นระดับโลกผ่านพันธกิจด้าน Net Zero ที่ประกอบด้วย 4 ด้าน คือ 1) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในจากกระบวนการทางธุรกิจ (Scope 1-2) โดยมีเป้าหมายศูนย์สุทธิในปี 2573 2) การมีส่วนร่วมและสนับสนุน โดย MUFG ได้เพิ่มงบการสนับสนุนการเงินเพื่อความยั่งยืนเป็น 100 ล้านล้านเยนในปี 2573 3) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคธุรกิจที่ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้ (Scope 3) เป็นศูนย์สุทธิในปี 2593 และ 4) การบริหารความเสี่ยงและธรรมาภิบาล

Mr. Colin Chen, MUFG’s Head of ESG Finance for Asia Pacific

“เพราะการลดคาร์บอนของลูกค้าคือภารกิจของเรา การดำเนินงานใน Scope 3 จึงเป็นงานใหญ่และเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ซึ่งสถาบันการเงินจะไม่มีบทบาทโดยตรงในการกำหนดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ลดการปล่อยคาร์บอน แต่เราจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับลูกค้า ศึกษาและเข้าใจในวิถีการดำเนินงานรวมถึงเป้าหมายของธุรกิจ เพื่อช่วยเหลือ ผลักดันให้ลูกค้าปรับตัว เปลี่ยนแปลง และพร้อมที่จะเริ่มจัดทำและดำเนินแผนการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero (Net Zero Transition Plan)”

นับตั้งแต่ MUFG ประกาศวิสัยทัศน์สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ร่วมกับสมาชิกภาคี Net Zero Banking Alliance (NZBA) ที่มีเป้าหมายร่วมกัน คือ การมีพอร์ตฟอร์ลิโอทางการเงินเป็นศูนย์สุทธิในปี 2593 บริษัทได้ดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อสนับสนุนการสร้างการตระหนักรู้ให้มากยิ่งขึ้นในเรื่องการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของเอเชีย ซึ่งถือเป็นตลาดหลักอันดับสองของ MUFG นอกประเทศญี่ปุ่น

ล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา MUFG ได้ออกรายงานสมุดปกขาว (White Paper) ซึ่งเน้นไปที่ภาคอุตสาหกรรมพลังงานในเอเชียที่มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกเกือบ 25% เจาะลึกในประเทศที่มีเครือข่ายของ Partner Banks อยู่ ได้แก่ อินโดนีเซีย ที่พลังงานส่วนใหญ่มาจากถ่านหิน (Coal-fired Power) และไทยที่มีพลังงานส่วนใหญ่จากก๊าซธรรมชาติ (Gas-fired Power) โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับการประเมินสิ่งแวดล้อมของตลาดและความท้าทายในการการลดการปล่อยคาร์บอน พร้อมนำเสนอโซลูชันที่เป็นรูปธรรมที่จะช่วยปลดล็อกความพยายามสู่คาร์บอนศูนย์สุทธิในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งสามารถสรุปเป็นแนวทางการเปลี่ยนผ่านได้ 3 ประเด็น 1. มุ่งเป้าที่พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) 2. สร้างนวัตกรรมการเงินแบบผสมสาน (Blended Finance Platform) และพิจารณากิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุม ไม่จำแค่เชิงพาณิชย์เท่านั้น 3. นำเสนอโซลูชันที่เหมาะสมกับแต่ละประเทศ

Mr. Colin Chen, MUFG’s Head of ESG Finance for Asia Pacific

“นอกจากนี้ เรายังได้ส่งเสริมความสำคัญของตลาดคาร์บอนและการเงินสำหรับการเปลี่ยนผ่านพลังงานของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเข้าร่วมในโครงการสำคัญต่าง ๆ เช่น โครงการการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน หรือ JET-P ในเอเชีย รวมทั้งได้จัดตั้งหน่วยงาน ESG Finance Department (EFD) ซึ่งระดมบุคลากรจากหลายประเทศในเอเชีย เพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับ ESG และความต้องการด้านการเงินที่ยั่งยืน จนได้รับการยอมรับจากพันธมิตร และได้รับรางวัลด้านความยั่งยืนมากมาย ทั้งยังได้รับการเสนอชื่อเป็นหนึ่งในลำดับต้นๆ ในกลุ่มการเงินเพื่อความยั่งยืนทั่วโลกอีกด้วย”

สำหรับประเทศไทย นับตั้งแต่การประกาศเดินหน้าพันธกิจสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน พร้อมสนับสนุนโครงการธุรกิจเพื่อสังคมและความยั่งยืน เมื่อปี 2564 กรุงศรี มุ่งมั่นในการสร้างและพัฒนาตลาดการเงินเพื่อความยั่งยืนและการเงินสีเขียวให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยได้นำเอาความเชี่ยวชาญและความแข็งแกร่งของเครือข่าย MUFG มาผสมผสานกับประสบการณ์ ความรู้ความเข้าใจตลาดท้องถิ่นเพื่อนำเสนอโซลูชันการเงินเพื่อความยั่งยืนที่ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการเปิดตัวนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ การสนับสนุนสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน การออกพันธบัตร หุ้นกู้ และตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เงินฝากเพื่อความยั่งยืน เป็นต้น รวมไปถึงการเปิดเวทีสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืนผ่านการจัดงานสัมมนา และการจับคู่ทางธุรกิจควบคู่กับการให้คำแนะนำ ปรึกษา เพื่อผลักดันลูกค้าให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง