ล่าสุด กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือกรมทะเล ได้ร่วมกับ เครื่องสำอาง “มิสทิน” ลุยพื้นที่เกาะเต่าดึงเครือข่ายชาวสุราษฎร์ฯ ร่วมกิจกรรมดำน้ำเก็บขยะฟื้นฟูแนวปะการัง รักษาระบบนิเวศท้องทะเลไทยให้ยั่งยืน เพื่อให้เกาะเต่าคงความสวยงามได้อย่างยั่งยืน

“ชิดชนก สุขมงคล”  รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นประธานเปิดโครงการมิสทินร่วมใจรักษ์ฟื้นฟูแนวปะการังแหล่งท่องเที่ยวของไทย  ภายใต้โครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยมี “ดนัย ดีโรจนวงศ์” ประธานกรรมการบริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) “ไพทูล แพนชัยภูมิ” ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และกำหนดมาตรการจัดการทรัพยากรทางทะเล รวมถึงผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ภาคเอกชน ตำรวจภูธรภาค 8 นักท่องเที่ยว นักดำน้ำจิตอาสาทั้งในและนอกพื้นที่ ผู้แทนชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะเต่า ผู้ประกอบการในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรม ณ บริเวณอ่าวลึก ต.เกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี

“ชิดชนก สุขมงคล” รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า ปัญหาแนวปะการังเสื่อมโทรมและการเพิ่มปริมาณของขยะทะเล นับเป็นปัญหาระดับประเทศ รวมไปถึงช่วงนี้เกิดสถานการณ์ปะการังฟอกขาวทั่วประเทศและต่อไปมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องทุกปียากแก่การแก้ไข กรม ทช. ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการอนุรักษ์และฟื้นฟูปะการังของประเทศไทย เพื่อใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและเน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ อาสาสมัครและผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงต้องทำทุกวิถีทางที่จะช่วยปะการังให้รอดพ้นจากวิกฤติที่เกิดขึ้น ดังนั้น การจัดกิจกรรมฟื้นฟูปะการังโดยการดำน้ำเก็บขยะบริเวณแนวปะการัง ภายใต้โครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา สอดคล้องกับภารกิจสำคัญของกรม ทช. ที่ต้องเร่งหาทางฟื้นฟูปะการังและแก้ไขปัญหาปะการังฟอกขาว รวมถึงการลดขยะที่ปกคลุมปะการัง ลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังอันเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยปะการังได้

อีกทั้งยังเป็นโครงการที่กรม ทช. ได้เสนอให้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมสนองพระดำริภายใต้โครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยฯ ที่พระองค์ทรงห่วงใยปัญหาความเสื่อมโทรมของแนวปะการัง อยากเห็นทุกฝ่ายร่วมมือกันอนุรักษ์แนวปะการังของไทย ที่ผ่านมากรม ทช. และบริษัท มิสทิน ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการยกเลิกการใช้สารที่เป็นอันตรายต่อปะการังในผลิตภัณฑ์กันแดด เพื่อรักษาแนวปะการังและสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยงดการผลิตและใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตราย อีกทั้งมีความปลอดภัยทั้งต่อผู้บริโภค ปะการัง และสิ่งแวดล้อมทางทะเล ช่วยอนุรักษ์ฟื้นฟูแนวปะการังและส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมในการดูแลแหล่งท่องเที่ยวตามแนวปะการังของประเทศไทยในพื้นที่ต่าง ๆ สู่สายตาชาวโลก.