การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ รวมถึงการอนุญาตให้ชาวต่างชาติเป็นเจ้าของโครงการพลังงานหมุน เวียนได้อย่างเต็มที่ ช่วยให้ฟิลิปปินส์สามารถดำเนินการพัฒนาพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 99 กิกะวัตต์ ซึ่งเพียงพอต่อการจ่ายไฟฟ้าให้ครัวเรือนทั่วประเทศ อีกทั้งยังแซงหน้าการผลิตไฟฟ้า 86 กิกะวัตต์ของเวียดนาม และสูงกว่าตัวเลขในอินโดนีเซียประมาณ 5 เท่า

ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในประเทศเกิดใหม่ที่พึ่งพาถ่านหินอย่างฟิลิปปินส์ จะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จของความพยายามระดับโลก ในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และควบคุมผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งแตกต่างจากประเทศรายได้ปานกลางหลายประเทศ ที่กำลังประสบปัญหาในการรักษาสมดุลระหว่างการออกห่างจากเชื้อเพลิงฟอสซิล กับอุปสงค์พลังงานที่เพิ่มขึ้น และความต้องการการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ในการประชุมพลังงานที่กรุงมะนิลา เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา บริษัทหลายแห่ง เช่น “สกาเทค เอเอสเอ” ซึ่งเป็นผู้พัฒนาพลังงานหมุนเวียนในกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ต่างแสดงความกระตือรือร้นเกี่ยวกับศักยภาพของฟิลิปปินส์โดยเฉพาะ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีความคืบหน้าล่าช้า เนื่องจากปัญหาด้านเงินทุนและกฎระเบียบ

ตามรายงานของ บลูมเบิร์กเอ็นอีเอฟ (บีเอ็นอีเอฟ) ทางการฟิลิปปินส์ดำเนินกลยุทธ์การพัฒนาพลังงานลมนอกชายฝั่ง, เสนอแรงจูงใจด้านภาษี และเปิดภาคส่วนพลังงานหมุน เวียนให้ชาวต่างชาติเป็นเจ้าของ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยกระตุ้นให้การลงทุนในพลังงานสะอาด เพิ่มขึ้น 41% เป็น 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 47,580 ล้านบาท) ในปี 2565 จากปีก่อนหน้า

ด้าน นายลอว์เรนซ์ เฟอร์นันเดซ หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์อรรถประโยชน์ ของบริษัท มะนิลา อิเล็กทริก ผู้ค้าปลีกพลังงานรายใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ความสนใจจากผู้พัฒนาพลังงานหมุนเวียน เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากต้นทุนอุปกรณ์ที่ลดลง และภาคส่วนพลังงานภายในประเทศ คุ้นเคยกับวิธีการสร้างและการ
ดำเนินการมากขึ้น

แม้การลงทุนในกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในประเทศส่วนใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่ฟิลิปปินส์และมาเลเซีย ก็พร้อมที่จะเป็นผู้นำการเติบโตดังกล่าว ขณะที่เวียดนาม ซึ่งเป็นผู้นำในปัจจุบัน จะเผชิญกับการถดถอย

อย่างไรก็ตาม การเร่งการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างแท้จริงนั้น ฟิลิปปินส์จะต้องเอาชนะความท้าทายต่าง ๆ รวมถึงความจำเป็นในการขยายสายส่งไฟฟ้า เพื่อจ่ายไฟฟ้าทั่วหมู่เกาะ ตลอดจนขยายความจุของโครงข่ายไฟฟ้า, เพิ่มการจัดเก็บพลังงาน และปรับปรุงกระบวนการขออนุญาตใช้พื้นที่

“ความสำเร็จของฟิลิปปินส์ ยังห่างไกลจากความแน่นอน เพราะถ้าไม่ได้ดำเนินการอย่างเหมาะสม โครงการต่าง ๆ อาจเผชิญกับความล่าช้า และรัฐบาลจำเป็นต้องทำให้แน่ใจว่า มีความจุของโครงข่ายไฟฟ้าที่เพียงพอ จากแหล่งผลิตไฟฟ้า” นายรามนาถ ไอเยอร์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านการเงินที่ยั่งยืนในเอเชีย จากสถาบันเศรษฐศาสตร์พลังงานและการวิเคราะห์ทางการเงิน (ไออีอีเอฟเอ) กล่าวทิ้งท้าย.