ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ที่ในปัจจุบันกลายเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ หรือสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและทำลายสัตว์น้ำประจำถิ่น ตามแหล่งน้ำธรรมชาติหรือบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวประมงอย่างหนักในพื้นที่ 16 จังหวัดทั่วประเทศ โดยในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช ทางสหกรณ์ผู้เสียงกุ้งปากพนัง ชมรมผู้เลี้ยงกู้สงขลา-นครศรี ได้จัดงบประมาณสนับสนุนการปฏิบัติการกำจัดปลาหมอคางดำ ในบ่อบำบัดน้ำเสียบริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียเนื้อที่ 184 ไร่ ของโครงการชลประทานเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลบ้านหน้าโกฐิ หมู่ 10 ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ในวันที่ 14 ก.ค. 67 ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ในขณะที่ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช ประชาสัมพันธ์โครงการโดยการประกาศจับตาย คดีแดงที่ 14/06/2567, ปราบวายร้ายแห่งลุ่มน้ำ กำจัดให้สิ้นซาก ซึ่งสื่อมวลชนนำนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง สร้างความสนใจจากนักตกปลา นักล่าปลาทั่วจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดใกล้เคียง ตามที่เสนอข่าวไปต่อเนื่องแล้วนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเดลินิวส์ นำเสนอข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ และกำหนดปฏิบัติการไล่ล่าบริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียเนื้อที่ 184 ไร่ ของโครงการชลประทานเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลบ้านหน้าโกฐิ หมู่ 10 ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ในวันที่ 14 ก.ค. 67 ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป และจะมีการเปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ ในราคา กก.ละ 10-20 บาทแบบคละไซซ์ และกำหนดขนาด สร้างความสนใจให้กับนักไล่ล่าปลาจากต่างอำเภอและต่างจังหวัด ได้เดินทางเข้ามาปักหลักไล่ล่าปลาหมอคางดำในพื้นที่ ต.ท่าพญา ขนาบนาก บางพระ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรมราช อย่างคึกคัก

ในจำนวนนี้มีนักล่าปลา ซึ่งเป็นชุดไล่ล่านอกกองประจำการ ทหารกองทัพภาคที่ 4 จำนวน 4 คน นำเครื่องมือ และเรือยาง เรือพาย เข้ามาไล่ล่าปลาในพื้นที่ดังกล่าว โดยมีนางสมจิตร อ่อนเกตุพบ หรือ “ป้าจิตร” และนางวาสนา อ่อนเกตุพล บุตรสาวป้าจิตร พร้อมสมาชิกในครอบครัวให้การต้อนรับ และคอยแนะนำชี้แจง อำนวยความสะดวกให้กับทุกคณะอย่างเต็มที่ ทำให้นักล่าปลาประทับใจกับอัธยาศัยไมตรีของครอบครัวป้าจิตรเป็นอย่างมาก ก่อนจะนำเรือพายและเครื่องมือประมงลงจับปลาหมอคางดำต่อเนื่องตลอดทั้งวัน ทั้งการทอดแห วางอวน ดักอวน ล้อมอวน ได้ปลาหมอคางดำขนาดใหญ่ประมาณกว่า 100 กิโลกรัม แบ่งขายในราคา กก.ละ 20 บาท ไปจำนวนหนึ่ง ส่วนที่เหลือนำกลับไปประกอบอาหารที่บ้านต่อไป

ขณะเดียวกันคณะนักล่าปลาอีกคณะหนึ่ง นำโดยนายทัศนะ สรรพลิขิต พรานปลาชื่อดัง จาก ต.ท่างิ้ว อ.เมือง และจาก อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ปลาหมอคางดำในบ่อน้ำเสีย 184 ไร่ มีเยอะมากๆ โดยเฉพาะตัวขนาดเล็ก บางจุดยั้วเยี้ยจนคิดว่าจับเท่าไหร่ก็ไม่หมด โดยคณะของตนทั้งตกเบ็ด ทอดแห วางอวน ได้ปลาหมอคางดำคนละหลายสิบกิโลกรัม สามารถยึดเป็นอาชีพสร้างรายได้ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้อีกทางหนึ่ง โดยหากขายได้ราคา กก. ละ 20 บาท มีรายได้วันละไม่น้อยกว่า 500 บาท ก็ถือว่าคุ้ม ดีกว่าไปรับจ้างทำงานก่อสร้างและงานอื่นที่ได้รับค่าแรงวันละ 300 บาท แต่หากราคา กก. ละ 5-10 บาท เหมือนที่โรงงานปลาป่น และทางราชการรับซื้อ ไม่สร้างแรงจูงใจและไม่คุ้มกับความเหนื่อยและระยะเวลาวันละ 6-10 ชม.

อยากแนะนำทีมพรานปลา นักล่าปลา ที่จะมาร่วมกิจกรรมในวันที่ 14 ก.ค. นี้ว่า การเตรียมเครื่องมือประมงมาไล่ล่าจับปลาหมอคางดำในพื้นที่ 184 ไร่ น้ำค่อนข้างลึก อวนที่จะมาจับปลาต้องเป็นตะกั่วถ่วงด้านล่าง เพื่อให้น้ำหนักของตะกั่วถ่วงดึงให้ขอบอวนถึงพื้นดินด้านล่าง จะทำให้จับปลาหมอคางดำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและได้จำนวนมากขึ้นเช่นกัน เท่าที่สังเกตพบว่าปลาหมอคางดำ มันมีสัญชาตญาณความตื่นตัว ระแวดระวังศัตรูดีมาก ทันทีที่น้ำตื้นเมื่อน้ำกระเพื่อมหรือน้ำกระทบกระเทือน บ่งบอกว่ามีศัตรูมา หรือเสี่ยงอันตราย มันจะรีบว่ายหนีหายไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งพบว่ามันจะหลบเข้าอยู่ในรูปู รูเปี้ยว หรือแยกรอยแตกของดิน ตามสุมทุมพุ่มไม้ในคลอง แค่เราเดินในน้ำก็เหยียบปลาหมอคางดำตามรอยแตกของดิน ส่วนในรูปูดำ รูเปี้ยว มีปลาหมอคางดำขนาดเล็กๆ มันจะเข้าเข้าไปอัดกันอยู่จนแน่น แต่ละรูอาจจะมากถึง 50-100 ตัวก็มี คงเป็นสาเหตุที่ทำให้อัตราการรอดของลูกปลาหมอคางดำสูงกว่าปลาหรือสัตว์น้ำโดยทั่วไป.