เมื่อวันที่ 7 ก.ค. นายธนกร อิ่มเกษม อายุ 33 ปี ผู้เพาะเลี้ยงกุ้งขาวและปลากะพงรายใหญ่ จำนวน 350 ไร่ในพื้นที่หมู่ 5 ต.ยี่สาร อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม กล่าวถึงปัญหาปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดใน ต.ยี่สาร ว่า เป็นตำบลแรก เพราะอยู่ใกล้กับบริษัทใหญ่ที่นำเข้ามาขยายพันธุ์เป็นปลาเศรษฐกิจตัวใหม่ แต่ไม่สำเร็จและได้เล็ดลอดแพร่ระบาดตามแหล่งน้ำสาธารณะเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์กินสัตว์น้ำธรรมชาติเป็นอาหาร และยังระบาดเข้าไปกินกุ้งในบ่อเลี้ยง โดยเฉพาะบ่อเลี้ยงแบบธรรมชาติที่ผันน้ำจากคลองสาธารณะเข้าบ่อ ซึ่งจะมีลูกกุ้งลูกปลาธรรมชาติเข้ามา ทำให้ปลาหมอคางดำหลุดเข้ามาด้วยและไล่กินลูกกุ้งลูกปลาจนเกือบหมด ต้องซื้อพันธุ์ปลาพันธุ์กุ้งมาปล่อยเพิ่ม ล่าสุดปล่อยกุ้งขาวเพิ่ม 1 แสนตัว ปลากะพง 2,000 ตัว หวังให้ปลากะพงไล่กินปลาหมอคางดำ แต่ผ่านไป 6 เดือนเปิดบ่อจับกุ้งได้ไม่ถึง 10 เปอร์เซนต์ปลากะพงประมาณ 2 ร้อยตัว ที่เหลือเป็นปลาหมอคางดำ ทำให้ขาดทุนหลายแสนบาท

นายธนกร กล่าวว่า ปลาหมอคางดำ นอกจากจะแพร่พันธุ์ได้เร็วแล้วยังตายยากมาก ขนาดตนพักบ่อตากแดดครึ่งเดือนและโรยปูนขาวฆ่าเชื้อ พอปล่อยน้ำเข้าบ่อครั้งใหม่ลูกปลาหมอคางดำก็เกิดเต็มบ่อได้อีกเพราะพ่อแม่ไข่ทิ้งไว้ นอกจากนี้ยังกินดุมาก อะไรขวางหน้าเล็กกว่าฮุบกินหมด และกินได้ 24 ชั่วโมง กินไปถ่ายไปไม่เก็บอาหารในกระเพาะ ส่วนปลาธรรมชาติที่เคยได้เป็นค่ากับข้าวหายไปหลายปีแล้ว ผู้เลี้ยงที่ทุนน้อยและต้องเสียค่าเช่าบ่อ บางรายขาดทุนต่อเนื่องทำให้หนี้สินท่วมจนแบกรับไม่ไหวก็เลิกอาชีพนี้ไปเลย เพราะต้นทุนมีทั้งค่าอาหารปลา ค่าไฟฟ้าใช้ปั่นอ๊อกซิเจนเติมอากาศ และค่าแรงานลากอวน ส่วนบ่อของตนต้องใช้อวนลากจับปลาหมอคางดำปีละ 3 ครั้งเพราะเยอะมาก ขนาด 4-5 ตัวโลมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อ กก.ละ 10 บาทไปทำปลาแดดเดียว ส่วนตัวเล็ก กก.ละ 5 บาทส่งโรงงานทำปลาร้า และทำเหยื่อเลี้ยงปูทะเล จึงขอให้ภาครัฐเร่งหางบประมาณมารับซื้อปลาหมอคางดำ กก.ละ 20 บาท และอยากให้กรมประมงเพาะพันธุ์ปลากะพงและสัตว์น้ำอื่นๆออกมาจำหน่ายในราคาถูกอีก เพราะตอนนี้ผู้เพาะเลี้ยงต้องซื้อพันธุ์สัตว์น้ำจากฟาร์มในราคาที่สูงมากทำให้ต้นทุนยิ่งสูงขึ้น

อีกราย นายธีระพงษ์ กลิ่นขจร อายุ 43 ปี ผู้เพาะเลี้ยงปลากะพงจำนวน 3 บ่อรวมพื้นที่ 8.5 ไร่ ม.3 ต.นางตะเคียน อ.เมือง จ.สมุทรสงครามกล่าวว่าตนเลี้ยงปลากะพงในบ่อแบบพัฒนาระบบปิดมานานแล้ว โดยสูบน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะเข้ามาแล้วใช้อวนตาถี่ปิดกรองน้ำป้องกันปลาหมอคางดำ แล้วซื้อพันธุ์ปลากะพงมาปล่อย แต่ก็มีปลาหมอคางดำเล็กๆ เล็ดลอดเข้ามาทำให้การจับแต่ละครั้งได้ปลากะพงน้อยลงเรื่อยๆ แต่ปลาหอมคางดำเพิ่มขึ้น

ล่าสุดตนจึงทดลองปล่อยปลากะพงตัวใหญ่ขนาด 4 นิ้วขึ้นไปในบ่อเลี้ยงขนาด 2 ไร่ จำนวน 26,000 ตัว เป็นการปล่อยแบบหนาแน่นแต่เลี้ยงอย่างสมบูรณ์ให้อาหารทั้งเช้าและเย็นเป็นเวลา 8 เดือน หมดค่าอาการไป 1 ล้านบาท จับปลากะพงขายได้น้ำหนักตัวละ 8 ขีดถึง 1 กิโลกรัม ประมาณ 24,000 ตัว รวมน้ำหนัก 16 ตันหรือ 16,000 กิโลกรัม ที่เหลือเป็นปลาหมอคางดำเข้ามาปะปนบ้าง ดังนั้นการเลี้ยงปลากะพงให้เปอร์เซนต์อยู่รอดสูง ตนจึงเห็นว่าต้องใช้ปลาตัวใหญ่ขึ้นเพื่อให้ปลาหมอคางดำจับกินไม่ได้ แต่ต้องลงทุนสูงทั้งพันธุ์ปลาและอาหาร ส่วนลูกปลาหมอคางดำตัวเล็กๆ ที่เล็ดลอดเข้ามาจึงถูกปลากะพงจับกินเป็นอาหารแต่ก็มีบ้างที่โตแล้วก็แย่งอาหารปลากะพงกิน แต่เมื่อเทียบกับก่อนหน้าที่ปลาหมอคางดำยังไม่แพร่ระบาด บ่อของตนไม่ต้องใช้ลูกปลากะพงโตขนาดนี้เพราะทำให้ต้นทุนสูงโดยใช่เหตุ แต่จับปลากะพงได้เกือบ 100 % และไม่เคยมีปลาหมอคางดำเลย

นายธีระพงษ์ กล่าวด้วยว่า ตนเห็นด้วยที่ภาครัฐจะรับซื้อปลาหมอคางดำกิโลกรัมละ 20 บาท เพราะช่วงนี้ปลาหมอคางดำมีเยอะแทบทุกพื้นที่ หากภาครัฐไม่เร่งหาทางกำจัดอนาคตก็ไม่แน่ว่าบ่อเลี้ยงปลากะพงที่แม้จะมีการป้องกันอย่างดีก็อาจจะมีปลาหมอคางดำเข้ามาระบาดได้ การใช้ลูกปลากะพงตัวใหญ่นั้นต้นทุนก็สูง ไหนจะค่าอาหารปลา ค่าไฟฟ้า และค่าแรงงาน จึงอยากให้ภาครัฐเร่งเข้ามาจัดการเรื่องนี้ จะใช้วิธีใดก็ได้ที่ควบคุมปลาหมอคางดำให้ได้ผล แต่หากกำจัดไม่ได้หรือคุมไม่อยู่ในอนาคตอย่าว่าแต่ผู้เลี้ยงกุ้งเลย ผู้เลี้ยงปลากะพงก็อาจสู้ไม่ไหวและคงหมดตัวเพราะปลาหมอคางดำเป็นแน่.