เมื่อวันที่ 8 ก.ค.นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้ตนเป็นหัวหน้าคณะเข้าร่วมประชุมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการเรียนรู้ และประชุมสัมมนาความร่วมมือการพัฒนาการศึกษาระบบทวิวุฒิไทย-จีนระดับอาชีวศึกษาที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาเฟิงไถแห่งกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งได้มีการทำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และนโยบายธนาคารหน่วยกิตร่วมกับประเทศจีน เนื่องจากประเทศจีนเป็นประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคเอเชีย ดังนั้นจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องมีมาตรฐานในการจัดทำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติไปเทียบกับประเทศจีนด้วย เพราะจะมีผลต่อการจัดการศึกษาระดับทวิวุฒิไทยและจีน

นายสิริพงศ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ศธ.ยังได้รับความร่วมมือเพิ่มเติมด้านอาชีวศึกษาในกลุ่มสาขาวิชาไฟฟ้ากำลังที่จะมีการดำเนินการเพิ่มขึ้นร่วมกับประเทศจีนและการพัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษา โดยเฉพาะหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับด้านสิ่งแวดล้อม เช่น หลักสูตรอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี หลักสูตรพลังงานโซลาเซลล์ เป็นต้น  ขณะเดียวกันตนยังได้เห็นการจัดการศึกษาของประเทศจีนมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในระบบการศึกษามากขึ้น ซึ่งทำให้ตนได้แนวคิดจากประเทศจีนมาต่อยอดแพลทฟอร์มเนื้อสาระการเรียนในการจัดการศึกษาของประเทศไทยเช่นเดียวกัน สำหรับแพลทฟอร์มสารระการเรียนรู้ที่อยากจะนำมาต่อยอดนั้น เราจะทำแพลทฟอร์มการจัดการเรียนการสอนของครูที่สามารถจ่ายงานได้ในห้องเรียน พร้อมกับตรวจคำตอบวิเคราะห์ได้ด้วยว่าห้องเรียนนี้มีเนื้อหาสาระตรงไหนที่เด็กทำได้และไม่ได้ รวมถึงตรวจสอบผู้เรียนแบบรายบุคคล ซึ่งจะทำให้ครูแก้ปัญหาในห้องเรียนได้ และยังสามารถกลับมาดูการจัดการเรียนการสอนย้อนหลังได้อีกด้วย  เนื่องจากการจัดทำแพลทฟอร์มการเรียนรู้นั้นเราต้องการนำไปใส่ไว้ในอุปกรณ์เสริมการสอนที่จะแจกครูและนักเรียน 

“ทั้งนี้แม้เราจะถูกตัดงบประมาณออกไปอยู่ในหมวดโครงการเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา  anywhere anytime ด้วยการสร้างแพลทฟอร์การเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนและครู  ซึ่งศธ.ได้จัดทำคำของบประมาณในส่วนนี้ไป จำนวน 7,644,068,100 บาท  แต่ได้รับการจัดสรรเพียง 3,395,466,600 บาท โดยจำนวนงบประมาณในส่วนนี้ศธ.ที่ถูกตัดออกไปจำนวน 4,148,601,500 บาทนั้นก็ยอมรับว่ากระทบกับนโยบายนี้ เพราะเราต้องการทำแพลทฟอร์มให้ครบทุกโมดูล แต่ด้วยภายใต้งบที่มีอยู่ก็คงจะทำดำเนินการได้ในบางส่วน ซึ่งนโยบายการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลานั้นเราต้องการสร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน เพื่อให้ครูสามารถเผยแพร่สื่อการสอนของตัวเองได้ ในโรงเรียนที่ห่างไกล เช่น รร.ในกทม.ก็สามารถแชร์สื่อการสอนให้แก่รร.ในต่างจังหวัดเรียนรู้ร่วมไปพร้อมกันได้ ซึ่งถือเป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษา” นายสิริพงศ์ กล่าว