จากกรณี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เชิญชวนร่วมกันแสดงความคิดเห็นตามมาตรา 8 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาดำเนินการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 ซึ่งมีเนื้อที่ลดน้อยลงไปประมาณ 265,000 ไร่ ได้ที่เว็บไซต์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ระหว่างวันที่ 28 มิ.ย.-12 ก.ค. 2567 https://portal.dnp.go.th/Content/nationalpark?contentId=37163 นั้น

ปลุกพลังโซเชียลโหวต NO เพิกถอนป่าอุทยานฯ ทับลาน 265,000 ไร่

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ทับลานเป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มทุนเข้าไปมากที่สุด มีการซื้อขายที่ดิน หรือเปลี่ยนมือ รวมถึงการเข้าไปสร้างโรงแรมรีสอร์ท และมีการจับดำเนินคดีมาโดยตลอดหลังจากปี 2554 ทั้งในพื้นที่อุทยานฯ ทับลาน หรือกรณี ส.ป.ก. ออกล้ำนอกเขตอีก 900 ไร่ และขยายเข้ามาในอุทยานฯ รวมหลายพันไร่ ซึ่งกรมอุทยานฯ ได้แจ้งความดำเนินคดี ส.ป.ก.

ที่ผ่านมา กลุ่มทุนตลอดจนนักการเมือง มักอ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นชุมชนตั้งแต่แรก โดยทำหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดินว่า การทวงคืนผืนป่าของกรมอุทยานฯ ดำเนินการไม่ถูกต้อง ลิดรอนสิทธิทำให้ชาวบ้านเดือนร้อน ทำให้การรื้อถอนตามคำสั่งศาล ล่าช้ามาจนถึงปัจจุบัน โดยในระหว่างการดำเนินคดี มีกลุ่มการเมือง กลุ่มทุน พยายามเจรจากับผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีกว่า 400 ราย เพื่อขอซื้อขายโรงแรม รีสอร์ท ในราคาถูกลงเกินเท่าตัว เพราะเชื่อว่าหากกั้นพื้นที่ 265,000 ไร่ สำเร็จ ก็จะทำธุรกิจได้ ไม่ต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง

นายชัยวัฒน์ ให้ความคิดเห็นที่น่าสนใจด้วยว่า กรณีนี้หากสามารถผลักดันการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 ซึ่งมีเนื้อที่ลดน้อยลงไปประมาณ 265,000 ไร่สำเร็จ น่าห่วงว่า จะมีพื้นที่อื่นๆ ถูกใช้แนวทางเดียวกันแน่นอน ทั้ง อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จ.ระยอง อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง จ.ตราด จะตามมาทันที

ทั้งนี้ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (สบอ.1) ปราจีนบุรี ได้ออกประกาศเรื่องการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในการกำหนดอุทยานฯ ทับลาน จ.ปราจีนบุรี นครราชสีมา และสระแก้ว โดยระบุข้อมูลประกอบการรับฟังความเห็นตอนหนึ่งว่า หากปรับปรุงแนวเขตทับลานตามแนวเขตใหม่ จะทำให้อุทยานฯ ทับลาน มีเนื้อที่ลดลงอย่างน้อย 265,000 ไร่ แม้จะมีการเสนอผนวกพื้นที่ทางตอนเหนือในท้องที่ ต.จระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา เพิ่มเข้ามาอีก 8 หมื่นไร่ ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะผนวกเพิ่มได้หรือไม่ เนื่องจากพบว่ามีราษฎรถือครองที่ดินอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังอยู่ในขั้นตอนของการหาข้อยุติกับกรมป่าไม้ เนื่องจากมีแผนงานปลูกป่าต่อเนื่อง และมีการจัดตั้งป่าชุมชนเป็นส่วนใหญ่แล้ว

ในการเพิกถอนอุทยานฯ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน จะต้องมีการรับฟังความเห็นจากประชาชน ตามมาตรา 8 วรรคสาม พ.ร.บ.อุทยานฯ เพื่อประกอบการพิจารณา ซึ่งการเพิกถอนเปลี่ยนแปลงแนวเขตให้กับนายทุน ผู้มีสถานะที่ไม่ใช่ผู้ยากไร้ อาจส่งผลกระทบให้เกิดการต่อต้านจากประชาชนที่มีมองเห็นการกระทำดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติ เกิดความไม่เป็นธรรมต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และเกรงว่าการเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อแก้ไขปัญหาจะไม่ใช่ข้อยุติของปัญหา กลับส่งผลให้มีการบุกรุกที่ดินของรัฐต่อไปในพื้นที่อื่นๆ ด้วย.