เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ที่พบปลาหมอคางดำ ซึ่งถูกขนานนามว่า เอเลี่ยนสปีชีส์ หรือสิ่งมีชีวิต “อันตราย” ในแหล่งน้ำทุกประเภททั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย โดยขณะนี้พบการแพร่ระบาดอย่างหนักในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร นั้น เพื่อเป็นการร่วมกันตัดวงจรชีวิตและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำ ทางประมงจังหวัดสมุทรสาครก็ได้จับมือกับพันธมิตร เตรียมจัดกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง ครั้งที่ 1” ในวันอังคารที่ 9 ก.ค. 67

นายเผดิม รอดอินทร์ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า คณะกรรมการแก้ไขปัญหา “ปลาหมอคางดำ” ในจังหวัดสมุทรสาคร โดยนายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานคณะทำงาน ร่วมกับพันธมิตรจัดกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง ครั้งที่ 1” ในวันอังคารที่ 9 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.00 น. ณ คลองท่าแร้ง (บริเวณวัดยกกระบัตร) ตำบลยกกระบัตร อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในจังหวัดสมุทรสาคร ตลอดจนร่วมกันกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ในจังหวัดสมุทรสาคร การจัดกิจกรรมในครั้งนี้กรมประมงโดยสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร FC จังหวัดสมุทรสาคร ร่วมกับพันธมิตร ประกอบด้วยจังหวัดสมุทรสาคร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 อำเภอบ้านแพ้ว เทศบาลหลักห้า หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่จัดกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” เพื่อรวมพลนักล่าปลาหมอคางดำเร่งกำจัดปลาหมอคางดำออกจากพื้นที่ในจังหวัดสมุทรสาครโดยเร็ว ซึ่งในครั้งนี้เริมดำเนินการ ณ คลองท่าแร้ง (บริเวณวัดยกกระบัตร) ตำบลยกกระบัตร อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ก่อนใช้มาตรการปล่อยสัตว์น้ำผู้ล่าเพื่อกำจัดปลาหมอคางดำในโอกาสต่อไป จึงขอเชิญหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรต่างๆ ตลอดจนพี่น้องประชาชนร่วมกิจกรรมในครั้งนี้อย่างพร้อมเพรียงกัน เพื่อสมุทรสาครบ้านเราปลอดจากปลาหมอคางดำ คืนระบบนิเวศที่สมดุลให้แหล่งน้ำธรรมชาติ

ขณะที่ นายกมล ไกรวัตนุสสรณ์ ประธานชมรมเรืออวนลาก จังหวัดสมุทรสาคร ได้บอกว่า สถานการณ์ปลาหมอคางดำระบาดขณะนี้ถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤติหนัก หากไม่รีบกำจัดหรือทำให้ปริมาณลดลงนั้น ก็จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างแน่นอน โดยเฉพาะพวกกุ้ง หอย ปู ปลา ที่อยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติและบริเวณปากแม่น้ำ ที่จะต้องถูกกินไปจนหมด อีกทั้งปลาประเภทนี้เป็นปลาที่ทนต่อสภาพน้ำทุกประเภทและยังมีการแพร่พันธุ์ได้เร็ว ดังนั้นการเร่งกำจัดพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ให้ได้มากที่สุด ก็จะช่วยลดการเกิดใหม่ของลูกปลาได้ ทำให้การแพร่ระบาดลดน้อยลง ซึ่งในปีที่ผ่านมาทางรัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณมาอุดหนุนช่วยซื้อปลาหมอคางดำจำนวน 500,000 กิโลกรัม ตอนนี้ยังคงเหลือเงินที่รับซื้อได้อีกราวๆ 30,000 กิโลกรัม โดยสนับสนุนให้แพปลา 3 แห่งในอำเภอเมืองสมุทรสาคร และอีก 2 แห่งในอำเภอบ้านแพ้ว เป็นผู้รับซื้อปลาหมอคางดำส่งให้กับโรงงานปลาป่น ซึ่งแพปลาจะรับซื้อไว้ในราคากิโลกรัมละ 5 บาท และทางแพจะได้รับค่าดำเนินการเพิ่มอีก 2 บาท นอกจากนี้ทางประมงจังหวัดสมุทรสาคร ก็เร่งทำเรื่องถึงอธิบดีกรมประมงเพื่อของบประมาณนำมาซื้อปลาหมอคางดำเพิ่มอีก เพื่อให้การกำจัดโดยวิธีการจับมาขายให้กับแพปลาส่งต่อโรงงานปลาป่นนั้น ยังคงเดินหน้าต่อไปได้อีก เพราะจังหวัดสมุทรสาครนับเป็นจังหวัดผู้นำในเรื่องกำจัดปลาหมอคางดำที่มากที่สุดในประเทศไทย ดังนั้นหากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง เชื่อได้ว่าการกำจัดปลาหมอคางดำจะต้องเห็นผลอย่างแน่นอน.