การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรที่ จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 1-2 ก.ค. ที่ผ่านมา ผู้บริหารกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)  นำโดย  “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รมว.ดีอี  เจ้ากระทรวง ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามโครงการต่างๆ

โดยมีเป้าหมายขับเคลื่อนและยกระดับ จ.นครราชสีมา เป็นต้นแบบ หรือ “โคราชโมเดล” ของ “มหานครดิจิทัลแห่งอนาคต” ก่อนขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ

“ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รมว.ดีอี บอกว่า โครงการ “Digital Korat: The Future Starts now – โคราช มหานครดิจิทัลแห่งอนาคต” เป็นการขับเคลื่อนและยกระดับจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งถือเป็นจังหวัดใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ เป็นประตูสู่ภาคอีสาน ที่มีศักยภาพความพร้อมในหลายด้าน สู่การเป็นเมืองดิจิทัลในระดับภูมิภาค ภายใต้ภารกิจของกระทรวง ดีอี ใน 4 มิติ ประกอบด้วย 1. ดิจิทัลเพื่อความเท่าเทียม (ด้านสังคม) 2. ดิจิทัลเพื่อความปลอดภัย (ด้านความมั่นคง) 3. ดิจิทัลเพื่อโอกาสที่ดีกว่า (ด้านเศรษฐกิจ) 4. ดิจิทัลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ด้านการดำเนินงานภาครัฐ)

โดยหนึ่งโครงการที่สำคัญที่จะช่วยยกระดับสุขภาพของชาวโคราช คือ การนำแพลตฟอร์ม Health Link ที่พัฒนาโดย สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (BDI) เข้ามาเชื่อมระบบข้อมูลผู้ป่วยกับโรงพยาบาลในพื้นที่  ให้ครอบคลุมทุกหน่วยบริการ  โดยความร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 9 นครราชสีมา และโรงพยาบาลค่ายสุรนารี สังกัดกองทัพบก กระทรวงกลาโหม 

ทำให้ชาวโคราชเข้าสู่ระบบสาธารณสุขได้ทุกรูปแบบ ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์เข้าถึงข้อมูล โดยต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ป่วยเท่านั้น ข้อมูลดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ ทำให้แพทย์สามารถดูประวัติการรักษาข้ามสถานพยาบาลนอกสังกัด ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยในการตรวจวินิจฉัยซ้ำซ้อน และสามารถได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ทันท่วงที 

โดย จ.นครราชสีมา ถือเป็นแห่งที่ 2 ต่อจาก กทม. ในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพกับหน่วยบริการทุกระดับ

ส่งผลให้ประชาชนเกิดการรักษาแบบไร้รอยต่อ โดยปัจจุบัน Health Link มีสถานพยาบาลทั้งภาครัฐ และเอกชน เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ

นอกจากนี้ มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกระทรวง ดีอี และภาคส่วนต่าง ๆ ในจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่

1.การขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมใน จ.นครราชสีมา ให้เป็นจังหวัดต้นแบบ ในการใช้ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ลดการใช้กระดาษ (Paper Less) การส่งเสริมการใช้งานด้านดิจิทัล ในระบบบริการสาธารณสุข และการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล

2.ความร่วมมือด้านการพัฒนากำลังคนดิจิทัล ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี  และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เพื่อร่วมมือกันในการพัฒนากำลังคน ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านดิจิทัลให้กับนักศึกษาและบุคลากรของสถาบันการศึกษาใน จ.นครราชสีมา

และ 3.ความร่วมมือระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กับ หอการค้า จ.นครราชสีมา และสภาอุตสาหกรรม จ.นครราชสีมา เพื่อพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในจังหวัด ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ศูนย์กลางโลจิสติกส์ (Logistic Hub) และส่งเสริม Soft Power ของจังหวัด เพื่อการเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่น ศิลปะ และการสร้างสรรค์ผลงานผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล

ภาพ pixabay.com

สำหรับในเรื่องการพัฒนากำลังคนดิจิทัล นั้น ทาง สดช. กับหน่วยงานการศึกษา จะร่วมมือกันพัฒนากำลังคนดิจิทัลใน จ.นครราชสีมา โดยเสริมสร้างความรู้ ทักษะ และความสามารถด้านดิจิทัลให้กับนักศึกษาและบุคลากรของสถาบันการศึกษาในจังหวัด รวมถึงส่งเสริมการวิจัย และพัฒนาด้านดิจิทัลในสถาบันการศึกษา และชุมชน ให้สามารถนำผลงานวิจัยไปประยุกต์ใช้จริงในภาคอุตสาหกรรมและชุมชนได้

โดยเฉพาะการสร้างอาสาสมัครดิจิทัจ (อสด.) ที่จะมีการพัฒนาและขยายเครือข่าย  อสด. ซึ่งเป็นกลุ่มประชาชนทั่วไปที่มีจิตสาธารณะ และมีความสนใจด้านดิจิทัล โดยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและนำความรู้ที่ได้รับจากแอปพลิเคชันไปสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้งานดิจิทัล พร้อมทั้งแนะนำบริการ และข้อมูลที่ถูกต้องจากภาครัฐ รวมถึงการให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข่าวสังคมออนไลน์ และให้คำแนะนำเบื้องต้น ป้องกันไม่ให้เกิดผู้ที่ได้รับความเสียหายจากภัยออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ โดยทาง สดช. ตั้งเป้าหมายการเพิ่ม อสด. จำนวน 2 ล้านคนจากทั่วประเทศ ภายใน 5 ปีนี้

นอกจากนี้ในขณะที่รัฐบาลมีวิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND : จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง” โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายยกระดับ ให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต (Future Mobility Hub) โดยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนที่สำคัญที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นั้น

ทางกระทรวงดีอี จึงได้ร่วมมือกับ กระทรวง อว.,  มทร.อีสาน  และ บริษัท จีไอ นิว เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด หนุนตั้ง Training Center  เพื่อปั้นบุคลากรที่มีทักษะสูง เพื่อป้อนอุตฯ อีวี ผ่าน DE Platfrom  รวมถึงระบบ VR Training ซึ่งเป็นนวัตกรรมเพื่อรองรับการพัฒนาทักษะกำลังคนด้านอีวี ด้วยเทคนิคและองค์ความรู้มาตรฐานระดับโลก

โดย มทร.อีสาน จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตามภารกิจของกระทรวง อว. For EV ดำเนินการใน 3 แผนงาน “พัฒนากำลังคน เพิ่มสัดส่วนการใช้รถอีวี และหนุนงบวิจัยอีวี ทั้งระบบ” เพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้กับประเทศ และสร้างอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ทั้งหมดเป็นเพียงโครงการบางส่วน ซึ่งเชื่อว่าจะมีอีกหลายโครงการตามมา เพื่อเป็น “โคราชโมเดล”  ปั้น จ.นครราชสีมา ยกระดับเป็น “มหานครดิจิทัลแห่งอนาคต” ก่อนที่จะนำโมเดลนี้ขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อไป

จิราวัฒน์ จารุพันธ์